กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กทม.
นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม. แจ้งว่า ผู้บริหารกทม. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่รกร้างว่างเปล่าโดยเฉพาะในชุมชน ให้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ โดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ร่วมคิด ร่วมทำด้วย สำนักพัฒนาชุมชนจึงร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำโครงการกรุงเทพเมืองสีเขียวในชุมชนนำร่อง 2 ชุมชน คือ ชุมชนร่วมกันสร้าง เขตบางกะปิ และชุมชนมัสยิดอันซอริสซุนมะห์ เขตบางกอกน้อย ด้วยการใช้พื้นที่ว่างปลูกผักปลอดสารพิษ และจะขยายการดำเนินงานไปยังเขตอื่นๆ ให้ครบทั้ง 50 เขต
สำหรับวิธีดำเนินงานเพื่อให้เกิดชุมชนสีเขียวโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ชุมชนสามารถเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ เช่น การพิจารณาเลือกพื้นที่ การวางแผนดำเนินงาน การตั้งคณะทำงานประกอบด้วย ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่สีเขียว ผู้แทนสตรีและเด็ก บุคคลอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่จากองค์กรเอกชน เป็นต้น และในการดำเนินงานตามโครงการจะมีการจัดทำแผนที่ชุมชนอย่างละเอียด จัดทำบัญชีต้นไม้หรือสิ่งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ สำรวจสิ่งปลูกสร้างเดิม ระบบสาธารณูปโภคทั้งบนดินและใต้ดิน สภาพที่ดินและการระบายน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งทำให้ได้ทราบข้อมูลสภาพจริง เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่เป็นสีเขียวมีความสมบูรณ์แบบยั่งยืนถาวรต่อไปภายใต้กรอบเป้าหมาย 4 ด้านชัดเจน คือ ด้านสุขภาพอนามัยของคนในชุมชน ปลูกพืชสมุนไพร ด้านเศรษฐกิจชุมชน ปลูกฟักและผลไม้ที่สามารถขายได้ ด้านสภาพแวดล้อมปลูกไม้ดอกและไม้ประดับเพื่อความร่มรื่นและสวยงาม และด้านความเป็นชุมชนและเอกลักษณ์ปลูกต้นไม้ที่มีลักษณะเดิมในชุมชน ซึ่งอาจสอดคล้องกับชื่อชุมชนก็ได้ และจะมีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้ชัดเจน เช่น บริเวณเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การปลูกผัก และบริเวณพักผ่อน เป็นต้น
อนึ่ง ขณะนี้สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต กำลังดำเนินการสำรวจพื้นที่ว่างในชุมชน รวมทั้งจะดำเนินการขอความร่วมมือและขอใช้พื้นที่ว่างจากเอกชน เขตละ 1 แห่ง เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป--จบ--
-นห-
- ๒๓ ธ.ค. สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย แชร์เคล็ด (ไม่) ลับ กับ 5 ทริคง่าย ๆ ปั้นองค์กรให้เป็น Green office
- ๒๓ ธ.ค. TEI ผนึกกำลัง วว.ร่วมมือ ยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ด้วยมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการรับรองผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ๒๓ ธ.ค. TEI เปิดข้อเสนอแนะกระบวนการหนุนเสริม "ภาคประชาสังคม" เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนและเมืองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ