กทม. และกรมการปกครองเปิดบริการด้านทะเบียนราษฎรด้วยคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาล 6 แห่ง

พฤหัส ๑๒ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๑:๒๙
กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กทม.
ที่ตึกนวมินทราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวานนี้ (11 ก.ค.44) เวลา 10.30 น. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวและเปิดตัวการเปิดบริการด้านทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอภัย จันทนจุลกะ อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นายอนุชา โมกขะเวส รองอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ ศ.นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร่วมแถลงข่าว
ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งสามหน่วยงานได้แก่ กทม. กรมการปกครอง และร.พ.จุฬาฯ โดยการริเริ่มของกรมการปกครอง ร่วมกันจัดโครงการบริการด้านทะเบียนราษฎร์ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนด้านทะเบียนราษฎร ด้วยความสะดวก รวดเร็ว มีความสมบรูณ์ และถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาการแจ้งเกิด แจ้งตาย ของงานด้านทะเบียนราษฎรนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะต้องมีการประมวลฐานข้อมูลของประชากรให้ถูกต้อง แต่เดิมกทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตไปรับแจ้งการเกิดและตายที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่เมื่อมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการปฎิบัติงานด้านการทะเบียนราษฎรเมื่อปี พ.ศ.2539 ทำให้ต้องงดการบริการดังกล่าว เนื่องจากการปฎิบัติงานด้านทะเบียนราษฎรจะต้องดำเนินการด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องติดตั้งที่สำนักงานเขตเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ประชาชนที่มาคลอดบุตร หรือเสียชีวิตที่โรงพยาบาล การแจ้งเกิด และแจ้งตายต้องมาแจ้งที่สำนักงานเขต หรืออำเภอ นอกจากนี้หลายคนยังไม่มารับสูติบัตร และบางรายไปแจ้งการเกิดที่สำนักทะเบียนอื่น ทำให้มีสูติบัตรตกค้างที่สำนักงานเขตเป็นจำนวนมาก มีผลทำให้สถิติข้อมูลประชากรไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ดังนั้นโครงการเปิดการบริการด้านทะเบียนราษฎรด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในโรงพยาบาล หรือในลักษณะของสำนักทะเบียนย่อย จึงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน
สำหรับโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการด้านทะเบียนราษฎร์ในกทม.ขณะนี้มี จำนวน 6 แห่งด้วยกัน เปิดบริการตั้งแต่ 08.30 -16.30 น ไม่เว้นวันหยุดราชการ ได้แก่ วชิรพยาบาล เขตดุสิต(เปิดบริการมาตั้งแต่ 19 พ.ย. 41) โรงพยาบาลราชวิถี เขตราชเทวี ,โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลตำรวจ เขตปทุมวัน, โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เขตคันนายาว, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เขตสายไหม (เปิดบริการแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 44) และโรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย จะเปิดให้บริการเดือนสิงหาคม 2544 อย่างไรก็ดีในอนาคต กทม.จะหารือกับกรมการปกครอง ในการที่จะขยายบริการไปยังโรงพยาบาลของเอกชนอีกด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวด้วยว่า บริการดังกล่าวจะช่วยลดขั้นตอนในการดำเนินงานด้านทะเบียนราษฎรและการติดต่อของประชาชน ซึ่งจะทำให้เด็กที่เกิดใหม่มีการรับรองสภาพบุคคลด้วยความรวดเร็วมากที่สุด ใช้เวลาไม่มาก และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ มารดามาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลก็สามารถยื่นหลักฐานที่โรงพยาบาลนั้นๆได้โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนของมารดา ไม่ต้องเสียเวลาไปที่สำนักงานเขต หรืออำเภอ สำหรับประชาชนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ก็สามารถดำเนินการได้ที่นี่เช่นเดียวกัน โดยเมื่อยื่นหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่จะออกหลักฐานแจ้งไปยังภูมิลำเนาเดิมของมารดา(หลักฐานจะได้รับ 2 ใบ คือสูติบัตรของเด็กและใบแจ้งย้าย) เมื่อกลับต่างจังหวัดก็นำหลักฐานไปแจ้งที่สำนักทะเบียนที่ตนมีชื่ออยู่ สำหรับโรงพยาบาลที่บริการแจ้งเกิดและแจ้งย้ายได้ทันทีในต่างจังหวัด คือ โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี , โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา, โรงพยาบาลอุดรธานี จ.อุดรธานี , โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ , โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก จ.พิษณุโลก , โรงพยาบาลนครปฐม จ.นครปฐม , โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี , โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า รพ.จุฬาลงกรณ์ เป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสูติ- นรีเวชวิทยา สำหรับผู้ที่มาฝากครรภ์และคลอดบุตรในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีประมาณ 1,000 ราย/เดือน เฉลี่ย 30 ราย/วัน ซึ่งมารดาที่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ก่อนหน้านี้ จะไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการรับใบสูติบัตร เนื่องจากมีความซับซ้อนและขั้นตอนมากมาย เมื่อแจ้งชื่อบุตรให้เจ้าหน้าที่ห้องรับใบสูติบัตร ณ ตึกนวมินทราชินีชั้นล่างทราบแล้ว เจ้าหน้าที่จะออกใบแทนใบรับสูติบัตรให้เพื่อเป็นหลักฐานนำไปรับใบสูติบัตรที่สำนักงานเขตปทุมวันอีกครั้งภายในเวลา 15 วัน
แต่ในปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย.44 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครและกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยได้พัฒนานำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงทำให้การบริการด้านทะเบียนราษฎร ในเรื่องการรับใบสูติบัตร การแจ้งมรณบัตร ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะได้ลดขั้นตอนในการติดต่อลงมาก กล่าวคือ เมื่อมารดาคลอดบุตรแล้วสามารถแจ้งชื่อบุตรพร้อมรับใบสูติบัตรได้ทันที ณ ที่ทำการรับใบสูติบัตร ตึกนวมินทราชินีชั้นล่าง--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐ ม.ค. ซีอีโอธุรกิจธนาคารเดิมพันกับเทคโนโลยีเกิดใหม่แม้มีช่องว่างทางทักษะ
๑๐ ม.ค. เครียดจริงหรือแค่คิดไปเอง? เช็คระดับความเครียดของคุณใน 5 นาที
๑๐ ม.ค. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จัดงาน Agency Kick off 2025 รวมพลังฝ่ายขาย มุ่งสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
๑๐ ม.ค. ซัมซุง ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๑๐ ม.ค. ซัมซุง ดึง แม่ชม พร้อมด้วย พี่จอง-คัลแลน ปล่อยทีเซอร์เล่นใหญ่รับต้นปี เตรียมพบ Galaxy AI ผู้ช่วยส่วนตัวคนใหม่
๑๐ ม.ค. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายพื้นที่ บรรเทาทุกข์ มอบไออุ่น แก่ผู้ประสบภัยหนาวในถิ่นทุรกันดารพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชัยนาท รวมมูลค่ากว่า 8
๑๐ ม.ค. ร่วมสำรวจอนาคตธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในงานสัมมนาออนไลน์ฟรี!
๑๐ ม.ค. ปีใหม่จะไม่โสด! Tinder เผยอาทิตย์แรกเดือน ม.ค. ปัดขวาคึกคักที่สุด
๑๐ ม.ค. MPJ แย้มข่าวดีรับปีใหม่ รุกขยายลานตู้ที่ศรีราชาครั้งใหญ่ คาดเพิ่มรายได้ลานตู้ 52%
๑๐ ม.ค. COVERMARK จัด Precious Bright Promotion ต้อนรับลูกค้าใหม่