กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.44 เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมการจัดสัมมนาผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 30 พ.ค.44 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยมี นางณฐนนท ทวีสิน นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตัวแทนบริษัทผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ผู้แทนกลุ่มเขต 6 กลุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การสัมมนาดังกล่าว จะมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 1,000 คน ประกอบด้วย หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเขต บริษัทผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ ผู้ประกอบการซ่อมรถจักรยานยนต์ ผู้แทนองค์กรเอกชน (NGOs) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (ผู้รับจ้างและผู้ใช้ทั่วไป) โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มสัมมนาย่อย 40 กลุ่ม ๆ ละประมาณ 25 คน ซึ่งจะมีวิทยากรประจำกลุ่มคอยให้คำแนะนำตลอดการสัมมนา สำหรับกำหนดการสัมมนาช่วงเช้า เวลา 09.00 น. พิธีเปิดงาน เวลา 09.15 น. การฉายวิดีทัศน์ นำเข้าสู่การสัมมนา เวลา 09.30 น. การเสวนาบนเวทีเรื่องแนวทางการบริหารจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ โดยตนจะร่วมเสวนากับผู้บริหารของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้บังคับการตำรวจจราจร ผู้แทนผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ และผู้แทนประชาคมมอเตอร์ไซค์ เวลา 10.30-12.30 น. เป็นการสัมมนากลุ่มย่อย สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่าย เริ่มตั้งแต่เวลา 13.30 น. ตัวแทนกลุ่มสัมมนา 6 กลุ่ม นำเสนอผลการสัมมนา กลุ่มละ 10 นาที เวลา 14.30 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายพิเศษเรื่อง การแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศจากรถจักรยานยนต์ เวลา 15.30-16.30 น. การแสดงทอล์คโชว์ โดยนักพูดชื่อดัง ปิดท้ายด้วยการจับฉลากมอบรางวัลแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา
นางณฐนนท กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการสัมมนาแบบแบ่งกลุ่มย่อย เป็นรูปแบบสัมมนาตามกระบวนการ AIC (Appreciation Influence Control) ซึ่งเป็นทฤษฎีและวิธีการบริหารที่พัฒนาขึ้นใหม่เหมาะสำหรับใช้แก้ไขปัญหาที่ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งทฤษฎีและวิธีการบริหารที่มีมาก่อนหน้านี้มักเกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการ หรือองค์กรเดี่ยว แต่ใช้ไม่ได้ผลดีในงานที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กระบวนการ AIC มีหลักการสำคัญคือ ทำให้บุคคลและองค์กรต่าง ๆ ซึ่งมีความเข้าใจ มีจุดมุ่งหมายและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันเข้ามาทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน โดยแบ่งกลุ่มให้เล็กลง พอที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมแสดงและรับฟังความคิดเห็น ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติขั้นแรก คือ สร้างทีมวิทยากร หรือผู้ประสานงานที่เข้าใจกระบวนการ AIC ขั้นตอนที่ 2 ทำความเข้าใจว่ากลุ่มหรือองค์กรใดมีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) กับเรื่องที่กำลังจะปรับปรุงแก้ไข และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการเชิญผู้แทนของทุกกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาวางแผนร่วมกัน เพื่อสร้างนโยบาย สร้างแผนกลวิธี ซึ่งนำไปสู่แผนการปฏิบัติงานที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ในที่สุด วิธีการนี้ได้มีการนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่ยากและซับซ้อนประสบผลสำเร็จมาแล้วในหลายประเทศ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า การเลือกนำวิธีการ AIC มาใช้ในโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากรถจักรยานยนต์นี้ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น ผู้จำหน่ายและผู้ใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งต้องตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหามลภาวะที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ และพร้อมยอมรับปฏิบัติตามนโยบายของภาครัฐ กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานในการวัดค่ามลพิษจากท่อไอเสีย กรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาต่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ กองบังคับการตำรวจจราจร ซึ่งเป็นผู้ออกใบสั่งจับ | ปรับ เป็นต้น ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะนำความคิดเห็นและความต้องการของผู้เข้าร่วมสัมมนามาเป็นพื้นฐานในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษ ทางอากาศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป
อนึ่ง ในการประชุมเตรียมการจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครได้มอบนโยบายให้สำนักต่าง ๆ และกลุ่มเขตทั้ง 6 กลุ่มเขต จัดทำแผนงานและโครงการด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 4 มิ.ย. โดยจัดให้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์สิ่งแวดล้อมระหว่างวันที่ 30 พ.ค. - 4 มิ.ย.44--จบ--
-นห-