กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการตามโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีและศูนย์อาหาร ในเขตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 โดยมีนพ.ปิยเมธิ ยอดเณร นางณฐนนท ทวีสิน รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายสมบูรณ์ อานิกวงศ์ชัย ผู้ตรวจราชการ 10 Dr.B.K.Nandi ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกองค์กรอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO.) รศ.อุดม คมพยัคฆ์ ภาควิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการเขต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขายอาหารริมบาทวิถีได้มีการวางขายกันอย่างแพร่หลาย และมีการเจริญเติบโตของผู้ค้าแผงลอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การขายอาหารริมบาทวิถีเป็นการตั้งวางแผงบนทางเท้าที่มีเนื้อที่จำกัด และขาดสิ่งอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ผู้ค้าบางรายยังขาดความตระหนักในเรื่องการสุขาภิบาลอาหาร กรุงเทพมหานครได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถี ร่วมกับสำนักงานเขตต่างๆ ขึ้นในปี 2540 และปัจจุบันได้ขยายการดำเนินการควบคุมแผงลอยทุกจุดทั่วกรุงเทพมหานครทั้งในจุดผ่อนผัน จุดเอกชน และนอกจุดผ่อนผัน รวม 810 จุด รวมผู้ค้า 10,986 ราย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่สะอาด สะดวก ถูกสุขลักษณะ ลดอัตราการป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจในการประกอบ ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และพัฒนารูปแบบอุปกรณ์ แผงลอยจำหน่ายอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาแผงลอยตามข้อกำหนดของพื้นฐานด้านกายภาพ 10 ประการ ให้ครอบคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมทำเป็นศูนย์อาหารสำหรับชาวกรุงเทพมหานคร เพื่อจำหน่ายอาหารคุณภาพดี รสชาติอร่อย ราคาจานละ 15.- บาท โดยให้ศูนย์อาหารดังกล่าวกระจายตามชุมชน ตลอดจนสถานที่ทำงานทั่วกทม. นั้น ขณะนี้แต่ละสำนักงานเขตได้ดำเนินการแล้วรวมจำนวน 21 ศูนย์ และอีกประมาณ 3 เดือน คาดว่าจะดำเนินการครบทั้ง 50 เขต ซึ่งบางเขตที่มีปัญหาในเรื่องการหาสถานที่ไม่ได้ เนื่องจากมีค่าเช่าที่ดินแพง มีงบประมาณสูง กรุงเทพมหานครจึงจะขอความร่วมมือกับศูนย์การค้าฯ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ หรือขยายเข้าไปในโรงเรียน วัด และชุมชนแทน
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้คณะกรรมการฯ โครงการพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีฯ จะได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มผู้บริโภคตระหนักถึงความสะอาด และสุขลักษณะของการประกอบ ปรุงอาหาร และปกป้องสิทธิของผู้บริโภค รวมทั้งให้ประชาชนพยายามเลือกซื้ออาหารแผงลอยที่มีสัญลักษณ์ดาวเขียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ค้าที่มีแผงลอยตามเกณฑ์มาตรฐาน 10 ประการ โดยมอบ “ดาวเขียว” ให้เป็นกำลังใจ และมีการติดตามประเมินผลทุก 3 เดือน หากยังคงสามารถรักษามาตรฐานให้คงเดิม ก็จะเพิ่มเป็น “ดาวเงิน” โดยมีเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มเป็น 15 ประการ แต่ถ้าหากผู้ค้าไม่สามารถรักษาเกณฑ์มาตรฐาน 10 ประการ ก็จะมีมาตรการในการลงโทษ โดยแนะนำให้ผู้ค้าดำเนินการปรับปรุงก่อน หากไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป--จบ--
-นห-