สนช.แถลงภารกิจด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง

อังคาร ๑๗ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๑:๑๘
กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (16 ก.ค.44) เวลา 11.00 น. ที่ห้องรับรองกรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม. นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นายชุมพร พลรักษ์ และนายสถาพร สุรพงษ์พิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน แถลงข่าวเรื่อง สำนักพัฒนาชุมชนกับภารกิจเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเมือง โดยได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร นโยบายการส่งเสริมอาชีพและความคืบหน้าการดำเนินการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนและโรงเรียนอาชีวะกรุงเทพมหานคร รวมทั้งนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมเมือง
กทม.พร้อมดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สร้างแหล่งเงินทุนหนุนอาชีพ
นายชุมพร กล่าวว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นโครงการของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกลุ่มอาชีพตามชุมชนต่าง ๆ ให้มีแหล่งเงินทุนไปใช้ในการประกอบอาชีพโดยให้ชุมชนดำเนินการบริหารจัดการเงินกองทุนชุมชนเอง ชุมชนละ 1 ล้านบาทอันเป็นนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากระดับรากฐานของสังคม สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดชุมชนให้ชัดเจนเพื่อให้ทราบชุมชนเป้าหมาย มีการตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการจัดเวทีชาวบ้านเพื่อเลือกสรรคณะกรรมการกองทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน ไม่เกิน 15 คน ประกอบด้วย ชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากต้องการให้สตรีมีโอกาสในการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน เมื่อดำเนินการเลือกคณะกรรมการกองทุนแล้ว คณะกรรมการและประชาชนจะร่วมกันจัดทำระเบียบข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองของตนเอง ตลอดจนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเอง แต่ต้องประกาศให้ประชาชนในชุมชนทราบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ร่วมกันตั้งขึ้น และมีแนวทางการให้กู้ยืมโดยให้วงเงินกู้ยืมรายหนึ่งไม่เกิน 2 หมื่นบาท เนื่องจากต้องการให้เงินกองทุน 1 ล้านบาทกระจายไปยังครัวเรือนต่าง ๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึง หากมีผู้ต้องการกู้เงินเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องให้กรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด แต่รายหนึ่งต้องไม่เกิน 5 หมื่นบาท ทั้งนี้การบริหารจัดการกองทุนจะเป็นเรื่องของภาคประชาชนทั้งหมด ฝ่ายราชการจะช่วยประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานเท่านั้น
นายชุมพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม.มีชุมชนเมืองอยู่ 1,596 ชุมชน บางชุมชนมีครัวเรือนจำนวนมาก บางชุมชนมีน้อย หากพิจารณาให้เงินกองทุน ชุมชนละ 1 ล้านบาทเท่ากัน ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำ คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับกรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดกรอบในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน โดยชุมชนที่จะได้รับผลตามนโยบายนี้จะต้องมีจำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือนขึ้นไป แต่ชุมชนที่มีน้อยกว่า 100 ครัวเรือนก็สามารถรวมตัวกันขอจัดตั้งกองทุนได้ ส่วนชุมชนหมู่บ้านจัดสรรในเขตกทม.จะยังไม่ได้รับการพิจารณาให้จัดตั้งกองทุนในรอบนี้ เนื่องจากเป็นชุมชนที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้
นายชุมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็ได้มีการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาชุมชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการลักษณะเดียวกับโครงการกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล โดยให้ชุมชนยืมเงินสมทบชุมชนละไม่เกิน 1 แสนบาท มีระยะปลอดหนี้ 3 ปี ผ่อนชำระคืนในปีที่ 4-6 โดยไม่มีดอกเบี้ย สำหรับเงื่อนไขการกู้ยืม ชุมชนที่กู้จะต้องเป็นชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร จัดตั้งกลุ่มอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยต้องมีเงินทุนสะสมไม่น้อยกว่า 10,000 บาท มีกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 7 คน มีสมาชิกรวมไม่น้อยกว่า 14 คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุมชน กู้ยืมได้ไม่เกิน 5 เท่าของเงินทุนสะสม คือ หากมีเงินทุน 10,000 บาท สามารถกู้ไปสมทบได้อีก 50,000 บาท ทั้งนี้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท กองทุนพัฒนาชุมชนดังกล่าวได้อนุมัติให้กู้ยืมไปแล้ว 55 กองทุน เป็นเงิน 5,500,000 บาท หากชุมชนใดมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร อาคารศรีจุลทรัพย์ (ชั้น 15 ) ถ.พระรามที่ 1 เขตปทุมวัน โทรศัพท์หมายเลข 613-7186 หรือที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตพื้นที่
นโยบายการส่งเสริมอาชีพของกทม. และการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน
นายสถาพร กล่าวว่า สำหรับนโยบายการส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทางสำนักพัฒนาชุมชนได้จัดฝึกวิชาชีพให้กับประชาชนเพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ สร้างรายได้ โดยมีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 แห่ง และศูนย์ฝึกอาชีพ 6 แห่ง ซึ่งประชาชนสามารถสมัครได้โดยเสียค่าสมัคร หากประชาชนท่านใดต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่กองส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาชุมชน โทรศัพท์หมายเลข 613-7177 และ 613-7190-91 นอกจากนี้สำนักพัฒนาชุมชนได้มีแนวความคิดที่จะเปิดวิทยาลัยชุมชน ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอนุปริญญา โดยจะมีการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรและสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม โดยเน้นว่า “ชุมชนใดต้องการให้ฝึกอาชีพอะไรก็จะจัดการอบรมวิชาชีพนั้น”
นอกจากนี้สำนักพัฒนาชุมชนยังได้ส่งเสริมเรื่อง “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเจริญให้แก่ชุมชนเป็นการสร้างอาชีพที่นำไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงและต่อเนื่องให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด โดยทางสำนักพัฒนาชุมชนจะช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของแต่ละเขตให้เป็นที่รู้จักและพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ตลอดจนทำการส่งเสริมการตลาดและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงตลาดสินค้าภายในประเทศและขยายผลให้เป็นสินค้าส่งออก
สนช.กับการมีส่วนร่วมของประชาคมเมืองเพื่อนทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวว่า สำนักพัฒนาชุมชนมีภารกิจหลักในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมเมืองเพื่อร่วมพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2540-2544) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างสำนักพัฒนาชุมชนและสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมเมืองในกรุงเทพฯ อย่างเป็นระบบจนมีประชาคมเกิดขึ้นมากมาย เช่น ประชาคมผู้สูงอายุ ประชาคมระดับกลุ่มเขต, และประชาคมเกษตรกร เป็นต้น สำหรับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2545-2549) จะมีการรณรงค์ในเรื่องของประชาคมนิยมไทย
ทั้งนี้การพัฒนาประชาคมเมืองจะต้องมีการกำหนดแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาประชาคมเมือง ได้แก่ การสร้างจิตสำนึกในการพึ่งตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างจิตสำนึกในบทบาทของผู้แก้ปัญหา การพัฒนาเวทีสาธารณะ การพัฒนาผู้อำนวยการการมีส่วนร่วมการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาของสำนักพัฒนาชุมชน ที่ต้องการเห็นเป็นรูปธรรมก็คือ การรวมกลุ่มประชาคมย่อย ๆ ในทุก ๆ ชุมชน สร้างความเข้มแข็งด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม ให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง และเมื่อกลุ่มมีความพร้อม ก็ให้ออกมาร่วมกันช่วยสังคมส่วนรวม ทุก ๆ กลุ่มจับมือกันสร้างเครือข่าย เปรียบเสมือนใยแมงมุมที่เชื่อมโยงกันไม่ขาดสาย ครอบคลุมไปทุกชุมชนเป็นสายใยแห่งความรักความเอื้ออาทร ชุมชนนั้นก็จะเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ปลอดภัย ปลอดพิษ เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยวิถีไทยที่ยั่งยืน และเมื่อทุกชุมชนสามารถจับมือกันสร้างเครือข่ายได้สำเร็จ ก็จะเป็นตามนโยบาย “ประชากรสมานฉันท์” ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในที่สุด
“การร่วมกันทำงานเป็นพหุภาคีของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน การให้ทุกส่วนขององค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาและร่วมรับผิดชอบ จะทำให้งานด้านการพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยความสอดคล้องและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชนกล่าว--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม