ILCT: ร่างกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์กับปัญหาในทางปฏิบัติ (2)

พฤหัส ๒๗ กันยายน ๒๐๐๑ ๐๙:๑๘
กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
ครั้งที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงสาระสำคัญโดยย่อของร่างกฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และได้ทิ้งท้ายไว้เป็นคำถามว่า หากเว็บไซท์ amazon.com หรือ yahoo.com โดยโจมตีจาก Hacker เช่นกรณีที่เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้วโดย Hacker ดังกล่าวเป็นบุคคลสัญชาติไทย กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ จะสามารถนำมาใช้ดำเนินคดีกับ Hacker รายดังกล่าวได้หรือไม่ และมีปัญหาในทางปฏิบัติในการปรับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างไร วันนี้เราจะมาคุยกันครับ
1. ปัญหาเรื่องการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของ Hacker ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันบนอินเตอร์นั้นเป็นอย่างไร ในปัจจุบันนี้ โดยส่วนใหญ่การเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต (login) นั้น มีอยู่ 2 วิธีคือ 1) ใช้โทรศัพท์ (ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ) หมุนผ่านโมเด็ม เพื่อเข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) เพื่อรับและส่งข้อมูล และ 2) เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตโดยใช้ระบบเครือข่าย LAN ผ่าน Leased line ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้ระบบนี้มักจะเป็นองค์กรหรือบริษัท ซึ่งจะมีการเช่าช่องสัญญาณจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อรับส่งข้อมูลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตมักนิยมเข้าสู่ระบบโดยใช้โทรศัพท์กับโมเด็มเป็นหลัก ดังนั้น ในการที่ Hacker รายหนึ่งจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลในคอมพิวเตอร์หรือเว็บไซท์ต่างๆ ได้นั้น จะต้องใช้อุปกรณ์คือ 1) โทรศัพท์และโมเด็ม เพื่อเข้าสู่คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต
2) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ของ Hacker หรือร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่ตนเองใช้บริการ 3) คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และ 4) โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เจาะข้อมูลหรือไวรัสที่ใช้โจมตีระบบรักษาความปลอดภัยหรือ Firewall ของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย ยกตัวอย่างเช่น หากนาย ก. ต้องการเจาะข้อมูลเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเว็บไซท์ amazon.com นาย ก. ต้องหมุนโทรศัพท์ ผ่านโมเด็มเพื่อเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ตโดยผ่านคอมพิวเตอร์ของตนไปยังคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่ตนเองเป็นสมาชิก และดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในเว็บไซท์
ดังกล่าว ดังนั้น ข้อมูลที่จะปรากฏร่องรอยของการกระทำความผิดดังกล่าวก็จะอยู่ใน (1) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ Hacker รายนั้น (2) คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เนื่องจากโดยปกติหากท่านสมัครสมาชิกกับ ISP แต่ละรายแล้ว ท่านจะได้รับที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะบันทึกชั่วโมงที่ท่านใช้งานและเว็บไซท์ที่ท่านเข้าไปดูทุกเว็บไซท์ เช่น นาย ก. สมัครเป็นสมาชิกของ KSC หมายเลข IP Address ของนาย ก. คือ 204.145.28.204 เมื่อนาย ก. เข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ของ KSC จะบันทึกว่า "Sept 4 11:20:45 web 63ftpd (15988) connection from 204.145.28.204" หมายความว่า ในวันที่ 4 กันยายน เวลา 11 นาฬิกา 20 นาที 45 วินาที นาย ก. ซึ่งใช้ IP Address เลขที่ 204.145.28.204 ได้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของ KSC เพื่อใช้บริการและหากนาย ก. เข้าไปในเว็บไซท์ใดก็จะมีรายละเอียดของเว็บไซท์ปรากฏดังนี้ 204.145.28.204 - [4/Sept/2001:11:20:45
] (หมายเลข IP Address ของเว็บไซท์ที่นาย ก. login เข้าไป) (3) คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้เสียหาย
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า การที่จะดำเนินคดีกับ Hacker นาย ก. ได้นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้เสียหายจะต้องพิสูจน์ได้ว่า นาย ก. เจาะเข้าสู่ระบบโดยใช้โทรศัพท์เครื่องใดในการติดต่อ ข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของนาย ก. ซึ่งโดยปกติจะมีการบันทึกข้อมูลในการทำธุรกรรมแต่ละครั้งไว้ ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่บันทึกไว้ และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจผู้เสียหายหรือศาลในการยึดอายัดบรรดาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจาก Hacker ได้
นอกจากนี้ การที่จะรวบรวมหลักฐานดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากองค์การโทรศัพท์หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยปกติมักจะต้องเก็บความลับของลูกค้า ดังนั้น การได้มาซึ่งข้อมูลในการกระทำความผิดของ Hacker จึงเป็นไปค่อนข้างยากหากไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ฉบับนี้ จะไม่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการได้มาซึ่งพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาหมายเหตุท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุไว้ว่า "ร่างพระราชบัญญัติเดิมมีการกำหนดร่างเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความไว้แต่ได้มีการตัดหมวดดังกล่าวออกไป เพื่อพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าควรรวมไว้ในกฎหมายฉบับนี้หรือไม่" โดยส่วนตัวของผู้เขียนมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายเฉพาะหรือกฎหมายเชิงเทคนิคที่ใช้ลงโทษผู้กระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากความผิดตามกฎหมายอาญาทั่วไป เช่น ลักทรัพย์ หรือทำร้ายร่างกาย ดังนั้น จึงควรกำหนดวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานไว้ในร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้การปรับใช้ตัวบทกฎหมายมีความสอดคล้องกัน แต่หากนำวิธีการดำเนินคดีในเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์บัญญัติเป็นกฎหมายเฉพาะหรือแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็อาจเกิดปัญหาในการตีความและบังคับใช้ในภายหลังได้ กฎหมายที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะนำมาเป็นหลักเกณฑ์ในร่างกฎหมายในเรื่องการได้มาซึ่งพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะมาตรา 38 (3) ซึ่งได้ระบุในเรื่องของการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในการฟอกเงินไว้ต่างหากว่า "ให้อำนาจกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีอำนาจในการเข้าไปในเคหะสถาน สถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการซุกซ่อนหรือเก็บรักษาทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อตรวจค้นหรือเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ หรือยึด หรืออายัดทรัพย์สินหรือพยานหลักฐาน หากเห็นว่า หากนำหมายค้นมาจะล่าช้าและหลักฐานดังกล่าวจะถูกทำลาย" โดยนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้กับกฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ฉบับนี้ โดยระบุให้อำนาจหน่วยงาน Computer Emergency Response Team (CERT) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC ให้มีอำนาจในการดำเนินการตรวจค้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศาล เช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อป้องปรามการกระทำอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับหน่วยงาน CERT ของอเมริกา
เนื่องจากข้อจำกัดของเนื้อที่ ดังนั้น ในครั้งหน้าเราจะมาพูดกันต่อเรื่องเขตอำนาจศาลและเปรียบเทียบร่างกฎหมายฉบับนี้กับกฎหมาย The Computer Fraud and Abuse Act ของอเมริกา อย่าลืมติดตามนะครับ--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO