กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--อย.
อย.เผยดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง GMP น้ำบริโภค รวมทั้งเดินสายประสานกับสสจ.ทั่วประเทศจัดสัมมนาแก่ผู้ประกอบการมาตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการรับข้อกำหนด GMP น้ำดื่ม ก่อนมีผลบังคับใช้ในปีหน้า
น.พ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2541-2543 อย.ได้ดำเนินการแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท โดยได้มีการนำหลักเกณฑ์ GMP (Good Manufacturing Pracitice) หรือหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตมาใช้ในการผลิตน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตตระหนักถึงการพัฒนาสถานที่ผลิตให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายภายในต้นปี พ.ศ.2544
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ที่ อย.ได้เริ่มดำเนินการร่างประกาศกฎหมายดังกล่าว อย.ก็ได้ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเกือบทั่วประเทศในการให้ความรู้เกี่ยว GMP น้ำบริโภคแก่ผู้ผลิตน้ำดื่มในแต่ละจังหวัด อีกทั้งในเขตกรุงเทพฯ ก็ได้จัดอบรมผู้ผลิตน้ำดื่มทั่วกรุงเทพฯ ให้เข้ารับฟังข้อกำหนด GMP น้ำบริโภคที่จะบังคับใช้เป็นกฎหมาย และจากการประชุมสัมมนาที่กรุงเทพฯ เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2543 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเห็นด้วยในการนำหลักการ GMP ไปพัฒนายกระดับมาตรฐานในการผลิตน้ำดื่ม โดยจะเห็นได้ว่า อย.ได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้ผลิตน้ำดื่มตั้งแต่เริ่มมีการร่างประกาศฯ มาโดยตลอด นอกจากนี้ อย.ยังได้มีมาตรการรองรับเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของ GMP น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทที่จะเป็นกฎหมายต่อไป เช่น คู่มือ วิดีโอให้ความรู้แก่ผู้ผลิตน้ำดื่ม โดยเผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการสนใจที่จะขอรับคู่มือและต้องการวิดีโอดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามไปยัง กองควบคุมอาหาร อย. โทรศัพท์ 590-7214, 590-7322
รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า หลังจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 3) ซึ่งเป็นการนำหลักเกณฑ์ GMP มาใช้ในการผลิตน้ำดื่ม มีผลบังคับใช้แล้ว คาดว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการผลิตน้ำดื่มให้ดียิ่งขึ้น โดยจะช่วยป้องกันปัญหาการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและมีความปลอดภัยสม่ำเสมอ ทั้งนี้การพัฒนาให้เกิดระบบดังกล่าวขึ้นในสถานประกอบการย่อมจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคมีความปลอดภัย อันจะช่วยให้การดำเนินงานคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในด้านน้ำดื่มสัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้น--จบ--
-อน-