กรุงเทพ--18 ม.ค.--บมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2543 คณะกรรมการเจ้าหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ และ บริษัท ปิโตรเคมิกัลไทย จำกัด (มหาชน) ได้แถลงร่วมกันว่า ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน ที่จะยื่นแผนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งแผนดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอฉบับดังกล่าวกำหนดจะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 มกราคม 2543 และคาดว่าศาลจะรับแผนดังกล่าวไว้พิจารณาโดยไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ทั้งนี้ ตามกระบวนการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง คณะกรรมการเจ้าหนี้คาดการณ์ว่าแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้เห็นชอบร่วมกันดังกล่าว จะได้รับอนุญาตจากศาลให้นำไปปฏิบัติใช้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2543
แผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ได้บรรจุสาระสำคัญของแผนปรับโครงสร้างหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2542 ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหนี้เข้าไปถือหุ้นทุนของบริษัท ในสัดส่วนร้อยละ 30 การนำสินทรัพย์ที่มิใช่สินทรัพย์หลักออกจำหน่าย หรือการเพิ่มทุน และการชำระดอกเบี้ยตามที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ใช้ระยะเวลาอันสั้น ในการเจรจาหารือร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจในมาตราต่างๆ ที่ระบุไว้ในข้อตกลง ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้อย่างฉันท์มิตร
ตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ผู้บริหารของทีพีไอ จะทำหน้าที่เป็นผู้ทำแผน ตลอดจนควบคุมและบริหารการดำเนินงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คณะกรรมการเจ้าหนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานของบริษัทได้ดำเนินตามแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้
แผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้ นับเป็นแผนที่สะท้อนถึงความเป็นจริงในอันที่จะฟื้นฟูกิจการของทีพีไอให้เป็นบริษัทที่มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทจะทำงานร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการลดมูลหนี้ของบริษัทลงสู่ระดับที่บริษัทสามารถควบคุมได้ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ขณะที่คณะผู้บริหารชุดเดิมของบริษัทจะได้มุ่งเน้นไปในการบริหารดูแลเฉพาะธุรกิจหลักของบริษัท
ทั้งนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้และบริษัททีพีไอได้ตกลงร่วมกันที่จะพิจารณาหารือเกี่ยวกับแผนการเพิ่มทุนของบริษัทต่อไป
สำหรับ คณะกรรมการเจ้าหนี้ชุดนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของทีพีไอ ด้วยสัดส่วนหนี้มากกว่าร้อยละ 68 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัท สถาบันการเงินดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารแห่งอเมริกา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซิตี้แบงก์ ธนาคารส่งออก-นำเข้าสหรัฐอเมริกา บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร KfW ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซันวา ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ธนาคารส่งออก-นำเข้าเกาหลี เป็นต้น--จบ--