กระทรวงสาธารณสุขระบุโรคไตวายเรื้อรังเป็นเหตุให้เซ็กส์เสื่อม ส่วนผู้หญิงอาจเป็นหมัน

พุธ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๐๐ ๑๕:๓๗
กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
แพทย์ระบุโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย มีผลให้ สมรรถภาพทางเพศของผู้ชายเสื่อมได้มากถึงร้อยละ 50 ส่วนผู้หญิงอาจทำให้เป็นหมันได้ แนะวิธีป้องกัน ไม่ให้เกิดปัญหาไตวายทำได้ง่ายโดยเฉพาะหลีกเลี่ยงกินยาแก้ปวดพร่ำเพรื่อ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ และอย่าปล่อยให้อ้วน
น.พ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหา ของโรคไตวายเรื้อรังว่า โรคไตวายเรื้อรังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เนื่องจากโรคนี้อาจเกิดจาก ไตผิดปกติโดยตรง หรือเกิดขึ้นภายหลังจากเป็นโรคอื่นมาก่อน อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัวว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง เพราะอาการเริ่มแรกของโรคนี้ไม่รุนแรง ดังนั้น หากประชาชนไม่ได้สังเกตอาการตนเองหรือไม่ได้รับการตรวจไตจากแพทย์ก็จะไม่ทราบเลย จึงเป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากมาพบแพทย์เมื่อมีอาการไตวายเรื้อรังรุนแรงหรือเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายแล้ว ปัจจุบันต่อปีมีประชาชนที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับโรคไตเข้าตรวจรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปประเภทผู้ป่วยนอกปีละประมาณ 1.3 ล้านราย และต้องนอน รับการรักษาในโรงพยาบาลปีละประมาณ 25,000 ราย ซึ่งในปี 2544 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะขยายบริการรักษาโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยเครื่องไตเทียมให้ครอบคลุมโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทั้ง 92 แห่งทั่วประเทศ
น.พ.ปราชญ์ กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย นอกจากจะส่งผลต่อการดำรงชีพ ของประชาชน คือ ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยแล้วยังส่งผลต่อปัญหาสมรรถภาพทางเพศด้วย และพบได้ค่อนข้างมาก โดยในเพศชายอาจพบความผิดปกติด้านนี้มากถึงร้อยละ 50 ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเพศหญิงอาจมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือน อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือบางรายมีประจำเดือนออกมากผิดปกติจนต้องได้รับเลือดแทน และบางรายอาจเป็นหมัน เนื่องจากไม่มีการตกไข่ บางรายที่เป็นมากอาจเกิดภาวะกามตายด้านได้
“ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย พบว่ามีหลายปัจจัย อาทิ ความวิตกกังวลของผู้ป่วยเองที่พบบ่อย คือ ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติด้านต่อมเพศ โดยในผู้ชายจะมีความผิดปกติของการสร้างอสุจิ รวมทั้งอาจเป็นผลข้างเคียงมาจากยา อาทิ ยาขับปัสสาวะ ดังนั้น หากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ประสบปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” น.พ.ปราชญ์ กล่าว
น.พ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถป้องกันโรคไตวายได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายที่ปฏิบัติได้ง่าย ๆ คือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอและหลีกเลี่ยง การกลั้นปัสสาวะ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อไต อาทิ การกินยากลุ่มแก้ปวดเป็นเวลานาน ๆ เมื่อมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือความอ้วน ควรไปรับการรักษาจากแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่นอกเหนือคำสั่งของแพทย์ และควรไปรับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม