กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--อย.
อย.เผยผู้บริโภคมีความตื่นตัวมากขึ้นในการปกป้องสิทธิของตนเอง โดยในปีงบประมาณ 2543 มีผู้ร้องเรียนมาที่ อย. เฉพาะเรื่องยามากถึง 224 เรื่อง ส่วนใหญ่ที่พบคือการขายยาโดยไม่ขออนุญาต ขายยาโดยไม่มีเภสัชกร ยาไม่มีทะเบียน นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาเกินจริง ซึ่งขณะนี้ อย.กำลังติดตามดำเนินการอย่างจริงจัง
ภญ.อังกาบ เวสโกสิทธิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า อย.ได้มีมาตรการในการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาอย่างเข้มงวดทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาด โดยตรวจสอบตามแผนปกติและรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในปีงบประมาณ 2543 (1 ต.ค.42-30 ก.ย.43) มีเรื่องยาที่ได้รับการ้องเรียน 224 เรื่อง ดำเนินการไปแล้ว 105 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นกรณีเกี่ยวกับการขายยา เช่น การขายยาโดยไม่ขออนุญาต ขายยาโดยไม่มีเภสัชกร ขายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาหมดอายุ ยาชุด วัตถุเสพติด ยาปลอม ยาไม่มีทะเบียน เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นจากร้านขายยา แผงลอย ร้านชำ มินิมาร์ท ห้างสรรพสินค้า การร้องเรียนจะมีทั้งมาด้วยตัวเอง โทรศัพท์ หรือทางจดหมาย การดำเนินการเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน จะพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้และแจ้งแหล่งหรือเบาะแสที่ละเอียดเพียงพอในการดำเนินการหรือไม่ จากนั้นจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาหลักฐานแสดงตัวตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งบางครั้งอาจขอกำลังสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ร่วมปฏิบัติการด้วย และนำเข้าคณะกรรมการพิจารณาคดีต่อไป โดยในปีงบประมาณ 2543 อย. ได้ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายด้านยา เช่น การลักลอบขายยาในวัด สำหรับโทษนั้นแตกต่างกันไปตามความคิด เช่น ขายยาโดยไม่มีใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ขายยาปลอมระวางโทษจำคุก 1 ปีถึง 20 ปี ปรับสองพันถึงหนึ่งหมื่นบาท ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินห้าพันบาท
รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า จากมาตรการการกำกับดูแลทางด้านยาที่ผ่านมา ในส่วนของผลการดำเนินคดีที่คดีสิ้นสุด อย.ได้ประกาศผลดำเนินคดีนั้น ๆ ทางหน้าหนังสือพิมพ์และทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ (www.fda.moph.go.th) เพื่อเป็นมาตรการทางสังคมให้ผู้ประกอบการที่กระทำผิดและถูกดำเนินคดีมีความระมัดระวังมากขึ้นและไม่กระทำผิดอีก อีกทั้งให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลและเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่า อย.ได้พยายามดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ แต่ อย. ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจตราผู้กระทำผิดได้อย่างทั่วถึง จึงขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบผู้กระทำผิดช่วยแจ้งเบาะแสมาที่ อย. โดยขอให้แจ้งแหล่งที่ละเอียดชัดเจน เพราะที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนแล้วแจ้งเบาะแสที่ไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถติดตามตรวจสอบการกระทำผิดได้ นอกจากนี้หากเป็นไปได้ขอให้ผู้ร้องเรียนแจ้งชื่อที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ หรือเบอร์โทรศัพท์ เพื่อเจ้าหน้าที่สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและแจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบได้ ชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องเรียนจะได้รับการรักษาไว้เป็นความลับ--จบ--
-อน-