บล. ยูไนเต็ด เข้าจดทะเบียน เตรียมระดมทุนขยายธุรกิจด้านหลักทรัพย์

พฤหัส ๒๙ มีนาคม ๒๐๐๑ ๑๓:๓๐
กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--ตลท.
บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ โดยมีแผนการระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจหลักทรัพย์และการรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "หลังจากที่บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติในหลักการให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีมติอนุมัติในหลักการให้รับหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกบริษัทหนึ่ง โดยบริษัทได้ยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนตามเกณฑ์กำไรสุทธิ ซึ่งเป็นเกณฑ์หนึ่งที่บริษัทที่สนใจเข้าจดทะเบียนสามารถเลือกได้ ทั้งนี้ บล. ยูไนเต็ดจะต้องดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหลักทรัพย์แจ้งผลการพิจารณาให้บริษัททราบ โดยหุ้นของผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมหรือมีอิทธิพลในการบริหารงานของบริษัทจำนวนรวมกันเท่ากับร้อยละ 35 ของทุนชำระแล้ว หลังเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (320.37 ล้านบาท) จะอยู่ในช่วงเวลาห้ามขายหุ้นหรือ Silent Period เป็นเวลา 6 เดือน"
บล. ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ มีกำไรสุทธิในปี 2542 จำนวน 179 ล้านบาท โดยเป็นบริษัทสมาชิกหมายเลขที่ 38 ของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยื่นคำขอให้รับหุ้นสามัญของบริษัทจำนวน 25,837,357 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่จะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering : IPO) จำนวน 6,200,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวมเป็นหุ้นสามัญที่จะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 32,037,357 หุ้น หรือ คิดเป็นทุนชำระแล้วรวมทั้งสิ้น 320.37 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทกำหนดนโยบายในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นที่ประมาณร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิในแต่ละปี
นายศิริพงษ์ สมบัติศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "สำหรับเงินทุนที่ได้จากการขายหุ้นต่อประชาชนในครั้งนี้ บริษัทมีแผนที่จะนำไปลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มจำนวน 30 ล้านบาท และใช้ในธุรกิจการรับประกันการจำหน่ายหลักทรัพย์อีกจำนวน 40 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ 3 แห่ง มีตัวแทนนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ 1 ราย โดยมีส่วนแบ่งตลาดในปี 2543 ประมาณร้อยละ 1.60 ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่ซื้อขายผ่านบัญชีเงินสด และได้เปิดให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเข้าร่วมในโครงการซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Trading) กับตลาดหลักทรัพย์ฯ"
บล. ยูไนเต็ด ไม่มีนโยบายให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และไม่สนับสนุนการแข่งขันด้านราคาโดยการลดค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ "เราได้กำหนดให้โครงสร้างรายได้ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาทางการเงินรวมการรับจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และผลตอบแทนจากการลงทุนมีอัตราส่วนเท่ากับร้อยละ 50 : 30 : 20 ตามลำดับ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของบริษัทที่ต้องพึ่งพิงรายได้จากค่านายหน้าเป็นรายได้หลักของบริษัท" นายศิริพงษ์ กล่าวเสริม
บริษัทหลักทรัพย์ยูไนเต็ด จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2514 เพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ครบทั้ง 4 ประเภท คือ กิจการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กิจการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุนและการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยรายได้หลักของบริษัทร้อยละ 76 มาจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
นายวิชรัตน์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการใช้กลยุทธ์ตลาดเชิงรุกในปีนี้ว่า "ขณะนี้ ทีมการตลาดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้าพบปะกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ อย่างแข็งขัน เพื่อชี้แจงถึงผลประโยชน์ที่บริษัทเหล่านั้นจะได้รับจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในด้านของการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ เราพบว่ามีหลายบริษัทที่สนใจ เพียงแต่รอช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่กับการหาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้ลงทุนไทย"
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสารนิเทศ
ลดาวัลย์ ไทยธัญญพานิช โทร.229-2036
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร.229-2037
จิวัสสา ติปยานนท์ โทร.229-2039--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ