จุฬาฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AUN-QA ครั้งที่ ๒

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๐๑ ๑๔:๕๐
กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--จุฬาฯ
เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระบบประกันคุณภาพ จุฬาฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AUN-QA ครั้งที่ ๒
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการประกันคุณภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (“The 2nd Workshop on AUN-QA for CQOs ”) ระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ณ ห้องประชุม ๒๐๒ อาคารจามจุรี ๔ จุฬาฯ มหาวิทยาลัยบูรพาและโรงแรมมณเฑียร พัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงด้านประกันคุณภาพ จากมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network-AUN) จำนวน ๑๗ มหาวิทยาลัย ใน ๑๐ ประเทศ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพ (Benchmarking Procedures) ของสถาบันอุดมศึกษาตาม ข้อตกลงพันธมิตรด้านประกันคุณภาพของ AUN (AUN-QA Alliance) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามาตรฐานคุณภาพในระดับอุดมศึกษาต่อไป ทั้งนี้ผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (CQOs) จากมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของ AUN และตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมจำนวนประมาณ ๖๐ คน
พันธมิตรด้านประกันคุณภาพของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ AUN-QA Alliance ก่อตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดูแลเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-BOT Meeting) ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๑๘ - ๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๑ ณ กรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า และต่อมาจากการประชุมคณะกรรมการดูแลเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ ๙ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กำหนด “Bangkok Accord ” เป็นข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาของ AUN โดยให้แต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพ (Chief Quality Officers-CQOs) เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยสมาชิกในการประสานงานด้านคุณภาพของแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือด้านประกันคุณภาพระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง
จากการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนสำหรับผู้บริหารระดับสูงด้าน คุณภาพครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งมาลายา ประเทศมาเลเซีย เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๔ สู่การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ จึงถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพ โดยเฉพาะกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายโอกาสการพัฒนาระบบประกันคุณภาพไปสู่ระดับนานาชาติต่อไป
ความพร้อมของมหาวิทยาลัยไทยกับการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยสู่ระดับนานาชาติ
รศ.ดำรงค์ ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดีด้านประกันคุณภาพ จุฬาฯ เผยถึงการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติว่ามีมานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปซึ่งจะเน้นการประกันคุณภาพที่ตัวผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ส่วนในด้านการศึกษาที่ผ่านมามีการประกันคุณภาพในบางหลักสูตรบางสาขาวิชา ไม่ได้ประกันคุณภาพทั้งมหาวิทยาลัยในลักษณะเป็นองค์รวม ปัจจุบันในระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมาเริ่มเกิดแนวคิดการประกันคุณภาพทั้งระบบในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย หลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกามีการประกันคุณภาพด้วยการประเมินและตรวจสอบในองค์กรเป็นระยะๆ ส่วนในยุโรปมีการสร้างระบบ EQA (European Quality Assurance) ในกลุ่มสหภาพยุโรป ด้วยความร่วมมือระหว่าง ๒๐๐ มหาวิทยาลัยซึ่งเริ่มใช้ในปี ๒๕๔๖ นอกจากนี้ยังมีการนำระบบมาตรฐานคุณภาพ ISO 9000 ในกลุ่มอุตสาหกรรมและงานบริการขยายสู่ วงการการศึกษา มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งนำระบบ ISO 9000 มาใช้ในบางหน่วยงานภายใน สำหรับในภูมิภาคเอเชียมีการนำระบบการประกันคุณภาพมาใช้ในหลายประเทศ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นรวมถึงประเทศอินเดียซึ่งมีการจัดประชุมวิชาการนานาชาติเรื่องการประกันคุณภาพสำหรับการศึกษาขั้นสูง (Quality Assurance for Higher Education) อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนนับได้ว่ามีการตื่นตัวในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งโดยมีการรวมตัวกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ ๑๗ มหาวิทยาลัยใน ๑๐ ประเทศ สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network — AUN) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพ โดยผู้บริหารระดับสูงด้านคุณภาพจาก AUN ตลอดจนผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆทั้งในและต่างประเทศจะเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำต้นแบบระบบประกันคุณภาพ (Benchmarking Procedures) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “The 2nd Workshop on AUN — QA for CQOs ” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๘ - ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา
รศ.ดำรงค์ กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยในเรื่องการประกันคุณภาพสู่ระดับนานาชาติว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพ เห็นได้จากในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ หมวดที่ ๖ มุ่งเน้นเรื่องการประกันคุณภาพทั้งระบบ รวมทั้งมีการสร้างกลไกต่างๆขึ้นมาสนับสนุนมากมายไม่ว่าจะเป็นระบบประกันคุณภาพ ๙ ด้าน ของทบวงมหาวิทยาลัย กลไกการตรวจประเมินจากภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการสร้างระบบประกันคุณภาพ “CU — QA ” ซึ่งได้มีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องระบบประกันคุณภาพทั่วทั้งมหาวิทยาลัย--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก