กทม. ร่วมกับ องค์การพิทักษ์สัตว์โลก (WSPA) จัดสัมมนากลยุทธ์การควบคุมสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร

ศุกร์ ๑๕ กันยายน ๒๐๐๐ ๐๙:๑๔
กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.43) เวลา 09.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนากลยุทธ์การควบคุมสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งการสัมมนาดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ องค์การพิทักษ์สัตว์โลก (WSPA) จัดขึ้น ในวันที่ 14,15 ก.ย.43 โดยมี นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร พญ.สุวณี รักธรรม ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายชูชาติ สายเชื้อ ผู้อำนวยการกองสัตวแพทย์สาธารณสุข ผู้แทนจากองค์การพิทักษ์สัตว์โลก พร้อมด้วยข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการภาครัฐอื่นๆ นักวิชาการสัตวแพทย์ ภาคเอกชน NGO และคนรักสัตว์ จำนวนประมาณ 50 คน ร่วมการสัมมนา ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับสุนัขจรจัด ทั้งบุคคลที่ทำงานในภาครัฐและภาคเอกชน ได้รับทราบถึงแนวทางการควบคุมสุนัขจรจัดในประเทศอื่นๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการควบคุมสุนัขจรจัดระหว่างประเทศ ตลอดจน แสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างมีมนุษยธรรมของหน่วยงานต่างๆ ในสังคม
ผู้อำนวยการสำนักอนามัยกล่าวรายงานถึงการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดและวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาว่า สุนัขจรจัดเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยมาช้านาน และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในส่วนสุนัขจรจัดที่มีผู้เลี้ยง และสามารถจับได้นั้น จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งคุมกำเนิดเพื่อจำกัดจำนวนการแพร่พันธุ์และแพร่โรค แต่ส่วนที่เหลือที่ไม่สามารถจับได้จะเป็นตัวแพร่พันธุ์และแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้าไปยังสัตว์และคนต่อไป กรุงเทพมหานคร ในส่วนของภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถจะดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายเพื่อการปลอดโรคพิษสุนัขบ้าทั้งคนและสัตว์ในเขตกรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรมีการศึกษาปัญหา ตลอดจนแนวทางในการควบคุมและลดปริมาณสุนัขจรจัดเหล่านั้น โดยตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเป็นสำคัญในการกำหนดแนวคิด ทิศทางการพัฒนา รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาคมเมือง เพื่อจัดทำแผนการควบคุมสุนัขจรจัด เป็นการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดให้หมดไปจากกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ได้มีการดำเนินการสัมมนาจัดทำแผนฯ ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.43 และเพื่อสานต่อถึงผลสำเร็จในความร่วมมือแก้ปัญหาสุนัขจรจัดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้จัดการสัมมนาขึ้นอีกในวันนี้ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์การพิทักษ์สัตว์โลก ส่งวิทยากรมาให้ความรู้ และแนะนำการดำเนินงานเกี่ยวกับการควบคุม สุนัขจรจัดอย่างมีมนุษยธรรม ดังที่ได้ดำเนินการสำเร็จในประเทศอื่นๆ มาแล้ว ภายหลังพิธีเปิดการสัมมนา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตนได้ประกาศนโยบายการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดโดยให้มีการยกเลิกการกำจัดสุนัขจรจัด แต่จะทำสุนัขจรจัดให้เป็นสุนัขปลอดภัยไม่มีโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งสุนัขจรจัดที่ กทม.จับมา จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและทำหมันให้ทุกตัวทั้งเพศผู้/เมีย รวมทั้งจะมีการใส่ปลอกคอเขียว เพื่อแสดงว่าเป็นสุนัขปลอดภัย หลังจากนั้น 7 วัน กทม. จะนำสุนัขกลับไปปล่อยยังสถานที่เดิมที่จับมา ซึ่งนโยบายดังกล่าว คณะผู้บริหารกทม. ได้เห็นชอบ และได้อนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณของกทม. ในโครงการควบคุมสุนัขจรจัด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนได้ประกาศนโยบายออกไปปรากฎว่าได้รับการตอบรับจากประชาชน โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีท่านสมภารรูปหนึ่งโทรศัพท์มาหาตน ว่าทางวัดยินดีที่จะสนับสนุนให้ใช้บริเวณวัดเป็นสถานที่พักฟื้นสุนัขจรจัดที่ กทม.จับมาทำการฉีดวัคซีน ทำหมัน ก่อนปล่อยสุนัขกลับสถานที่เดิม ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี หากกทม. ได้รับอนุเคราะห์สถานที่จากทางวัด เพราะทั้งสุนัขจรจัดและเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการจะได้รับความสะดวกเนื่องจากไม่ต้องเดินทางไปถึงศูนย์ศึกษาชีวิตสัตว์ประเวศ โอกาสนี้ตนจึงขอกราบเรียนไปยังท่านเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในกทม. ซึ่งมีกว่า 300 วัด หากมีสถานที่ที่เอื้ออำนวย และให้ความร่วมมือ ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนวัดทั้งหมด หรือประมาณ 100 วัด ทั้งสุนัขจรจัดและเจ้าหน้าที่ฯก็จะได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นเพราะสุนัขที่จะจับมาฉีควัคซีน ทำหมัน จะเป็นสุนัขจรจัดในบริเวณวัดและชุมชนใกล้เคียงกับวัดซึ่งง่ายต่อการจับและปล่อยกลับที่เดิม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่าเมื่อทางวัดอนุญาตให้ใช้สถานที่แล้ว กทม. น่าจะทำกรงแบบมาตรฐานให้กับทางวัดเพื่อเป็นคอกให้สุนัขจรจัด ลักษณะของกรงต้องง่ายต่อการประกอบและเคลื่อนย้าย สูงประมาณ 8 ฟุต แล้วมีที่คล้องต่อกันคล้ายกับที่คล้องแผงกั้นของทางตำรวจ แต่ละคอกจะมีประตู มีที่ให้ขับถ่ายให้สุนัข และที่สำหรับให้อาหาร โดยกรงดังกล่าว กทม. อาจจะทำเองหรือขอสนับสนุน ในส่วนของค่าอาหารหรับสุนัขจรจัด กทม.อาจจะขอรับบริจาคจากประชาชน โดยต่อไปจะเปิดให้ประชาชนบริจาคเงินค่าอาหารสุนัขจรจัดได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 61 แห่ง ของกทม. ซึ่งขั้นตอนจะมีการออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาคด้วย ทั้งนี้นโยบายแก้ปัญหาสุนัขจรจัด ตนจะเดินหน้าต่อไป คาดว่าจะสามารถดำเนินการควบคุมสุนัขจรจัดไม่ให้ขยายพันธุ์ได้ปีละ 1 แสนตัว ในปีต่อๆ ไป จำนวนสุนัขจรจัดก็จะลดลง และภายใน 10 ปี กรุงเทพฯจะไม่มีปัญหาสุนัขจรจัด--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ