ILCT: การร่างสัญญา Information System Outsourcing(2)

พฤหัส ๒๒ พฤศจิกายน ๒๐๐๑ ๐๙:๐๖
กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
[email protected]
อาทิตย์ที่แล้วผมค้างท่านผู้อ่านไว้ในเรื่องของสัญญา Information System Outsourcing หรือที่ผมเรียกสั้นๆว่า "สัญญา ISO" วันนี้เราจะมาคุยเรื่องดังกล่าวกันต่อครับ
ก่อนที่ท่านจะร่างสัญญา ISO นั้น ท่านต้องมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาที่ชัดเจนแน่นอนก่อนครับ จึงจะสามารถกำหนดว่าสัญญา ISO ในรูปแบบใดที่จะเหมาะสมกับบริษัทท่านมากที่สุด อาทิ เช่น หากท่านต้องการขยายขอบเขตของการให้บริการของบริษัทท่านโดยร่วมกับบริษัทที่เชี่ยวชาญในการให้บริการอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติมก็อาจกำหนดรูปแบบของสัญญา ISO ในลักษณะของสัญญาร่วมให้บริการ (Co-Service Agreement) โดยย้ายภาคส่วนการให้บริการลูกค้าบางส่วนไปให้แก่บริษัทผู้รับโอนดำเนินการร่วมกับท่านและแบ่งผลกำไรหรือหากต้องการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อให้บริการก็อาจทำสัญญา ISO ในรูปแบบของสัญญาร่วมทุน (Joint venture Agreement) แต่หากท่านต้องการตัดบริการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ของบริษัท สัญญา ISO ก็อาจอยู่ในลักษณะของสัญญาซื้อขายกิจการ (Sale and Purchase Agreement) โดยโอนทั้งผลประโยชน์และหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ให้คู่สัญญาฝ่ายที่รับซื้อสินทรัพย์หรือบริการไปดำเนินการแทน ในทางปฎิบัตินั้น ท่านควรพิจารณาด้วยว่า บริษัทที่จะเข้ามาร่วมทำสัญญา ISO กับท่านนั้นมีสถานะทางการเงินที่ดีและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือมีความสามารถที่จะให้บริการแก่ลูกค้าของท่านได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะหากบริษัทที่เข้ามารับโอนสินทรัพย์หรือบริการต่อจากท่านขาดประสบการณ์ นอกจากทำให้ชื่อเสียงของบริษัทท่านเสื่อมเสียแล้วยังอาจก่อให้เกิดปัญหาฟ้องร้องในภายหลังได้และลูกค้าอาจขอยกเลิกการใช้บริการกับบริษัทท่านในส่วนอื่นด้วย
ประเด็นสำคัญในสัญญา ISO คือ ต้องมีการกำหนดจำนวนพนักงานที่จะโอนไปทำงานในภาคส่วนที่โอนไปตามสัญญา ISO โดยท่านอาจต้องสอบถามความสมัครใจของพนักงานและคิดคำนวณค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานในกรณีที่พนักงานบางส่วนไม่ต้องการย้ายสถานที่ทำงาน นอกจากนี้ ในกรณีที่การทำสัญญา ISO นั้นเป็นสัญญาที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงเช่น กรณี ของ บีที และ ซันซาที่ผมเล่าให้ฟังเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ส่วนใหญ่บริษัทที่รับซื้อสินทรัพย์หรือบริการจากท่านอาจขอตรวจสอบสถานะทางการเงินและภาระผูกพันในทางกฎหมายของบริษัทท่านก่อน ที่จะลงนามในสัญญาวิธีการตรวจสอบดังกล่าวนั้นเราเรียกว่า " การทำ Due Diligence" วัตถุประสงค์ของการทำ Due Diligence นั้นเพื่อผู้ที่รับโอนสินทรัพย์หรือบริการของท่านหรือผู้ร่วมทุนกับท่านได้รับทราบสถานะทางการเงินและข้อผูกพันทางกฎหมายที่จะตามมาภายหลังจากการรับโอนสินทรัพย์หรือบริการทั้งในแง่ของสัญญาที่ท่านทำกับลูกค้าแต่เดิม สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอพแวร์ที่ใช้ในการให้บริการ สัญญาเช่าคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ และสัญญาอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์หรือบริการที่โอนไปตามสัญญา ISO
ในการร่างสัญญา ISO นั้นโดยรวมลักษณะเหมือนกับการร่างสัญญาทั่วๆไปคือต้องมีการกำหนดหน้าที่คู่สัญญา ระยะเวลา การเลิกสัญญา การโอนกรรมสิทธิ์ต่างๆ แต่จะมีเพียงบางส่วนที่แตกต่างจากสัญญาทั่วไป ซึ่งท่านควรให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ
1) นิยามศัพท์ (Definition) ควรมีการกำหนดนิยามของสินทรัพย์หรือบริการที่จะโอนไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายให้ชัดเจนว่ามีสินทรัพย์หรือบริการประเภทใดบ้างและควรกำหนดคำนิยามศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Technical Term) ที่จะโอนไปให้ชัดเจนถูกต้องเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทในภายหลัง เช่น บริษัท ก ทำสัญญา ISO โดยโอนภาคส่วนของการให้บริการอินเตอร์เน็ตประเภทบริการให้ลูกค้าใช้พื้นที่ของคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์ (Co-location) ไปยังบริษัท ข ในสัญญา ISO ก็ควรกำหนดนิยามของคำว่า "บริการ (service)" ให้ชัดเจนว่ามีบริการประเภทใดบ้าง เป็นการโอน การให้บริการเฉพาะในส่วนการให้ใช้พื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์เซิพเวอร์เท่านั้นไม่รวมถึงการให้บริการอินเตอร์เน็ตแบบ ISP (Internet Service provider) หรือในกรณีที่บริการที่โอนมีบริการเสริม (Ancillary service)หรือบริการใดที่เกี่ยวข้องกับบริการที่โอนไปก็ควรกำหนดรวมไว้ในนิยามของคำว่าบริการ ตัวอย่างเช่น บริการ Co-location โดยปกติ มักจะต้องมีการให้บริการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย (Hosting) แก่ลูกค้า หรืออาจมีการให้บริการให้ใช้ที่อยู่บนอินเตอร์เน็ต (IP Address) ก็ควรกำหนดบริการเสริมทั้งสองประเภทไว้ในนิยามคำว่า "บริการ" ด้วย นอกจากนี้ควรมีการกำหนดนิยามคำว่า "สินทรัพย์ (Asset)" ว่ารวมถึงสินทรัพย์ประเภทใดบ้าง เครื่องคอมพิวเตอร์ฮารดแวร์ หรือซอพท์แวร์ ประเภทใดบ้างให้ชัดเจนโดยหากมีรายละเอียดค่อนข้างมากก็อาจกำหนดเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ISO
2) หน้าที่ของคู่สัญญา (Duties) สัญญาส่วนนี้ถือเป็นสาระสำคัญของสัญญาที่ต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้โอนและผู้รับโอนสินทรัพย์หรือบริการมีหน้าที่อย่างไรบ้างตามสัญญา โดยเฉพาะมาตรฐานและระดับของการให้บริการ (Service Level) ที่ทำการโอนไปให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ว่าผู้รับโอนต้องให้คำรับรองว่าจะให้บริการแก่ลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วได้มาตรฐานสากลและไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับลูกค้า นอกจากนี้ควรมีการกำหนดให้มีการส่งมอบรายชื่อและข้อมูลของลูกค้าและสินทรัพย์หรือบริการที่โอนไปซึ่งมีทั้งสินทรัพย์ทั้งที่จับต้องได้ (Tangible Asset) และ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้(Intangible Asset)เช่น คอมพิวเตอร์ซอพแวร์ประเภทต่างๆ ทั้งประเภทที่เป็น freeware และ share ware หรือชื่อโดเมน (Domain Name)ในกรณีที่มีการให้บริการให้ลูกค้าใช้ชื่อโดเมน ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่ต้องกำหนดไว้คือ ต้องมีการทำการโอนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามกฎหมายเช่น หากมีการโอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็ต้องทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าและยื่นแบบฟอร์มต่อหน่วยงานราชการให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนด .ในกรณีที่สัญญา ISO เป็นการร่วมทุนหรือร่วมกันให้บริการแก่ลูกค้าควรมีการกำหนดหน้าที่แก่ผู้โอนกับผู้ที่รับโอนงานหรือบริการ เงื่อนไขในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนการจัดตั้งบริษัท การชำระค่าหุ้น อำนาจของกรรมการ ผู้ถือหุ้นและรายงานความคืบหน้าในการให้บริการแก่ลูกค้าเพื่อให้สามารถควบคุมการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในบางกรณีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการให้บริการแก่ลูกค้าได้มาตรฐานและเป็นไปตามที่คู่สัญญาตกลงกัน คู่สัญญาอาจตกลงร่วมกันในการร่างสัญญาให้บริการฉบับใหม่ที่ลูกค้าต้องเซ็นกับผู้รับโอนเพื่อให้ผู้โอนพิจารณาและแนบท้ายสัญญา ISO โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ISO ด้วย (ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะมีรายละเอียดของการให้บริการทั้งหมดรวมถึงหน้าที่ที่ผู้รับโอนต้องให้บริการแก่ลูกค้า)
3) การชำระค่าโอนสินทรัพย์(Payment) การร่างสัญญาส่วนนี้อาจกำหนดให้มีการชำระเป็นเงินก้อน (Lump sum) หรือชำระเป็นงวดๆแล้วแต่คู่สัญญาจะตกลงกันแต่ควรคำนึงถึงภาระภาษีในการรับโอนสินทรัพย์หรือบริการหรือภาระภาษีในการร่วมลงทุนด้วยเพราะวัตถุปรสงค์ของการทำสัญญา ISO คือตัดภาระค่าใช้จ่ายซึ่งหากการโอนสินทรัพย์เรียบร้อยแต่เสียภาษีมากก็ไม่คุ้มทุนดังนั้นควรปรึกษาทนายความที่เชี่ยวชาญเรื่องภาษีอากรในการวางแผนการชำระภาษีว่ารูปแบบใดของสัญญา ISO บริษัทได้ประโยชน์มากที่สุดและที่สำคัญต้องสามารถตัดเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทที่โอนสินทรัพย์หรือบริการได้
4) การจำกัดความรับผิด (Liability) ในสัญญา ISO ควรมีการกำหนดเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดภายหลังการโอนสินทรัพย์และบริการให้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบและควรยกเว้นความรับผิดที่เกิดจากเหตุสุดวิสัยในกรณีต่างๆ นอกจากนี้ควรมีการระบุในเรื่องคำรับรอง (Warranty) ในทรัพย์สินทางปัญญาที่โอนให้ชัดเจนว่ารับรองในเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิในการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะระบุอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับคู่สัญญาจะตกลงกันเป็นหลัก
ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นจากการทำสัญญา ISO คือ ปัญหาการโอนพนักงานจากบริษัทเก่าไปยังบริษัทใหม่ซึ่งตามกฎหมายไทยถือว่าเป็นการเปลี่ยนตัวคู่สัญญา ซึ่งไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ลูกจ้างหรือพนักงานจะให้ความยินยอม นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานของไทยซึ่งนายจ้างอาจต้องชำระค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้นในทางปฎิบัติจึงควรตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างก่อนทำการโอนภาคส่วนของสินทรัพย์หรือบริการในส่วนของกฎกฎหมายอังกฤษนั้นมีการกำหนดกฎหมายคุ้มครองลูกจ้างในกรณีของการทำสัญญา ISO ไว้เช่นเดียวกับกฎหมายแรงงานของไทยคือ TUBE หรือ The Transfer of Undertaking (Protection of Employment) ดังนั้นการทำสัญญา ISO จะเป็นประโยชน์มากเพียงใดขึ้นอยู่กับท่านและที่ปรึกษาครับ ผมแนะนำว่าหากท่านจะทำสัญญา ISO ควรปรึกษาทนายความที่เชี่ยวชาญน่าจะดีที่สุดครับครั้งหน้าผมจะมาตอบปัญหาของท่านผู้อ่านในเรื่อง การทำ caching และ Mirroring กับการทำธุรกิจเว็บไซท์ครับ--จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO