กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--กทม.
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอสว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ของบริษัทเซี่ยงไฮ้ เมโทร คอนสตรั๊กชั่น คอมปานี จำกัด (หรือเอส เอ็ม ซี ซี) ได้เดินทางเข้าไปสำรวจในรายละเอียดของเส้นทางโครงการดังกล่าวแล้ว โดยเริ่มดำเนินการเร่งด่วนจำนวน 2 เส้นทางคือ ช่วงแรกจากสถานีอ่อนนุชถึงสำโรง รวมระยะทาง 9 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จอย่างน้อยที่สุดจำนวน 5 สถานีก่อน โดยเส้นทางเดินรถจะผ่านไปทางวัดบางนาและคลองบางนา ในส่วนนี้จะมีการก่อสร้างทางเดินอัตโนมัติระยะทางประมาณ 300 เมตรจากบริเวณริมคลองบางนาถึงศูนย์ประชุมไบเทค ส่วน
ช่วงที่ 2 จากสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถึงบริเวณซอยโกวบ๊อ รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองโครงการ จะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ย.43 และแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน
อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายนี้ หากจะให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ากทม.เข้าร่วมดำเนินการลงทุนด้วยก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนเพราะจะทำให้อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าลดลง ประกอบกับกทม.จะนำรถเมล์ร้อนที่โอนจาก ข.ส.ม.ก.มาดำเนินการ ภายในเวลา 2 ปี 6 เดือน พร้อมปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ ให้เป็นวิ่งมาเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า นอกจากนี้หากรถเมล์สามารถประสานงานกับรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้บัตรโดยสารอยู่ในใบเดียวกันได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างมาก
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสประมาณ 12,000 ล้านบาท ที่จะดำเนินการในเดือน พ.ย.นั้น บริษัทขนส่งมวลชนฯ ได้ร่วมมือกับบริษัทเซี่ยงไฮ้ฯ กู้เงินจากธนาคารเซี่ยงไฮ้มาดำเนินการลงทุน ส่วนกทม.เป็นผู้อนุมัติโครงการทั้งหมด
ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนที่เหลือคือเส้นทางจากสำโรง — บางพลี , เส้นทาง 2 จากโกวบ๊อ — สมุทรสาคร และเส้นทาง 3 จากสถานีหมอชิต — ลำลูกกาคลอง 4 กทม.จะเข้าร่วมดำเนินการโดยสนับสนุนในส่วนที่เป็นโครงสร้างของรถไฟฟ้า และบริษัทซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่เคยดำเนินการมาแล้วจากประเทศเยอรมันจะดำเนินการเกี่ยวกับรางวิ่งและสร้างตัวรถไฟฟ้า
อนึ่งเส้นทางที่จะดำเนินการหลังจากที่ก่อสร้างช่วงอ่อนนุช-สำโรง และตากสิน — โกวบ๊อ เสร็จเรียบร้อยแล้ว กทม.เห็นว่าควรดำเนินการเส้นทางช่วงจากโกวบ๊อ — สมุทรสาครก่อน เนื่องจากการรถไฟฯ ยินดีร่วมลงทุนและใช้งบประมาณไม่มาก อย่างไรก็ตามในส่วนของการดำเนินการระดมเงินลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายที่เหลือ หากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในลักษณะที่ต่ำ กทม.ก็จะเชิญชวนให้ธนาคารออกพันธบัตรและให้อัตราดอกเบี้ยแก่ประชาชน 5.5% ต่อปี ประชาชนในประเทศก็จะได้รับประโยชน์จากการซื้อพันธบัตร ส่วนบริษัทที่จะดำเนินการก็สามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.5 ต่อปี แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้--จบ--
-นศ-