กทม.ร่วมลงนามข้อตกลงสัญญาเบญจภาคี

พฤหัส ๐๕ เมษายน ๒๐๐๑ ๐๘:๑๖
กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ ( 4 เม.ย.44) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษา นางจรวยพร ธรณินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน นายจรูญ ชูลาภ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา นายไพบูลย์ เสียงก้อง อธิบดีกรมการศาสนา และนายวันชัย อมรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. ร่วมลงนามข้อตกลงสัญญาเบญจภาคีเพื่อร่วมมือในการรับและส่งต่อนักเรียน ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา จนถึงเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับเก้าปี (ม.3) อีกทั้งส่งต่อให้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปี (ม.6 และ ปวช.) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 และมาตรา 17
นายสมชาย ฉัตรสกุลเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กล่าวรายงานว่า ความร่วมมือในการจัดการศึกษาต่อเนื่องนี้นับเป็นการดำเนินการตาม พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 ที่ให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และมาตรา 17 ที่ว่า ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองในเรื่องสถานศึกษาต่อ สำหรับคุณสมบัติของนักเรียนที่สามารถเข้าโครงการคือ จะต้องเป็นนักเรียนที่มีระเบียบวินัย เคารพกฎระเบียบของโรงเรียนและชุมชนเป็นคนดีมีคุณธรรม และที่สำคัญต้องไม่ข้องเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษใด ๆ ทั้งสิ้น
สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่เขตดอนเมือง มี 5 สังกัดที่เข้าร่วมโครงการทำข้อตกลงสัญญาเบญจภาคี คือ สังกัดกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง , สังกัดกรมการศาสนา 3 แห่ง , สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน 6 แห่ง, สังกัดกรมอาชีวศึกษา 1 แห่ง , สังกัดกรมสามัญศึกษา 3 แห่ง รวม 19 แห่ง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในสภาวะการณ์ที่สังคมไทยและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากความเจริญทางด้านข้อมูลข่าวสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัฒน์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างมาก ในภาวะเช่นนี้ บุคคลจำเป็นต้องมีการพัฒนาตนเอง เพื่อที่จะสามารถมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข และช่วยพัฒนาประเทศชาติ ให้มีความเจริญก้าวหน้า จึงได้มีกระแสเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้มีการปฏิรูปทางการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้รักที่จะเรียนรู้ มีความสุขในการเรียนรู้ มีปัญญา มีความคิดที่จะสามารถแก้ปัญหา และเลือกสรรสิ่งที่ดีมีคุณค่าอันแท้จริงให้กับตนเองและสังคม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 10 กำหนดว่า “การจัดการศึกษาต้องจัดให้มีบุคคลมีสิทธิ์และโอกาสเสมอกัน ในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” และมาตรา 17 กำหนดว่า “ให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปี โดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ด เข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ดังนั้น เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ การจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ โรงเรียนและวิทยาลัยในพื้นที่เขตดอนเมือง เห็นสมควรสนับสนุนช่วยเหลือประสานการส่งต่อนักเรียนให้สามารถเข้าเรียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง จึงร่วมกันจัดทำสัญญาเบญจภาคีขึ้น
อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน แต่การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในพื้นที่เขตดอนเมืองไม่สามารถดำเนินการครบทุกระดับชั้น ดังนั้นสถานศึกษาในพื้นที่เขตดอนเมืองจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อีกทั้งเป็นการให้บริการทางการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐานแก่นักเรียนให้มีโอกาสได้เรียนอย่างต่อเนื่องและตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างทั่วถึง โดยเด็กนักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาดอนเมืองสามารถเรียนต่อในระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับวิทยาลัยได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกและสามารถเข้าเรียนได้ทุกคน สำหรับโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2544 เป็นต้นไป โดยคาดหวังว่าสถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ดังกล่าว จะมีความสามัคคีร่วมในการจัดการศึกษาได้ครบตามเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.การศึกษากำหนด และเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาจนถึงระดับวิทยาลัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ดังนั้นสถานศึกษาในพื้นที่เขตดอนเมืองเห็นสมควรสนับสนุนช่วยเหลือประสานการส่งต่อนักเรียนให้สามารถเข้าเรียนได้อย่างต่อเนื่อง--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ