กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ชดใช้ราคาและค่าเสียหายมูลค่าถึง 3 ล้านบาท
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) แจ้งผลสำเร็จในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยอีกหนึ่งคดีคือบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด โดยบริษัทฯ ยินยอมชดใช้ราคาและค่าเสียหายรวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 3 ล้านบาท และยกเลิกการใช้โปรแกรมที่ไม่มีใบอนุญาตใช้สิทธิ์ที่ถูกต้อง พร้อมซื้อซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายจากสมาชิกของบีเอสเอ สำหรับคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทฯ จำนวน 92 เครื่อง
"การตกลงประนีประนอมเพื่อระงับข้อขัดแย้งครั้งนี้นับเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนแก่บริษัทข้ามชาติและบริษัทท้องถิ่นที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายภายในองค์กรของตนเอง การใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายสร้างความเสี่ยงสูง พร้อมมีโทษปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาลด้วย" นายฮิวอี้ ตัน รองประธาน บีเอสเอกล่าว
นายตัน กล่าวเสริมว่า "เป้าหมายของบีเอสเอยังคงเป็นบริษัทต่างๆ ที่ซื้อและใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายของพันธมิตรของบีเอสเอ ในอนาคตอันใกล้นี้ บีเอสเอจะเข้าตรวจค้นและจับกุมองค์กรธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก เราพยายามอย่างมากที่จะให้ความรู้ความเข้าใจต่อองค์กรธุรกิจว่าซอฟต์แวร์เป็นสินทรัพย์ของบริษัทฯ โดยการลงทุน ให้ความเคารพและบริหารจัดการซอฟต์แวร์นั้นๆ อย่างเหมาะสม"
นายตันกล่าวสรุปว่า "การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นับเป็นอาชญากรรมที่รุนแรง เพราะนำความเสียหายมาสู่ผู้บริโภคและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ คนที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟแวร์คือผู้ค้าของปลอม การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นทำความเสียหายแก่เศรษฐกิจของชาติ ประชาชนและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่น"
บีเอสเอได้รับข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด จากการแจ้งข้อมูลผ่านโทรศัพท์สายด่วนของบีเอสเอหมายเลข 9714140 จากข้อมูลที่ได้รับจากการสืบสวนของบีเอสเอ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าตรวจค้นบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ในข้อหาใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ผลจากการตรวจค้น บริษัทฯ ตกลงที่จะใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายกับคอมพิวเตอร์ของบริษัทฯ จำนวน 92 เครื่อง โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าวประกอบด้วยซอฟต์แวร์ของ อะโดบี ซิสเตมส์ อินคอร์ปอเรเต็ด, แอปเปิ้ล คอมพิวเตอร์ อิ้งค์, ออโต้เด็สค์, อิงค์, ไมโครซอฟท์ คอร์ปปอเรเต็ด และไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น
"ด้วยการสนับสนุนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ช่วยให้บีเอสเอสามารถเพิ่มกิจกรรมการป้องปรามองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกกฎหมายในการทำงาน บทบาทของบีเอสเอและภาครัฐบาลคือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของทุกฝ่าย นโยบายของบีเอสเอคือการให้ความรู้ความเข้าใจ การป้องปรามและทำงานคู่ขนานกับผู้กำหนดนโยบายในการที่จะสร้างความเข้าใจและเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เรากำลังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบบริษัทอีกกว่า 50 แห่ง ที่มีการแจ้งเบาะแสว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการทำธุรกิจ การตรวจค้นจับกุมจะเริ่มขึ้นเมื่อข้อมูลที่ได้รับจากการสืบสวนเสร็จสมบูรณ์" นายฮิวอี้ ตันกล่าว
ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอต์แวร์และอินเตอร์เน็ตของโลกต่อรัฐบาลและกับผู้บริโภคในตลาดโลก สมาชิกของบีเอสเอเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ส่งเสริมนโยบายที่ให้สนับสนุนนวัตกรรมและการขยายโอกาสทางการค้า และต่อสู้การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สมาชิกของบีเอสเอทั่วโลก ได้แก่ อะโดบี, แอปเปิล คอมพิวเตอร์, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์/มาสเตอร์แคม, มาโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, ไซแมนเท็ค และยูจีเอสเป็นต้น สมาชิกในภูมิภาคเอเชียได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21) และบอร์แลนด์
ในภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค บีเอสเอได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์
บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทรศัพท์: 971 3711 โทรสาร: 521 9030
อีเมล์: [email protected]
เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ--
-อน-