กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น
สำนักงานศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบปฏิกิริยาของเครื่องโทรศัพท์พื้นฐานพกพา PCT ของบริษัท เอเซีย ไวร์เลส คอมมิวนิคชั่น จำกัด (AWC) ผู้บริหารและพัฒนาโครงข่าย PCT ในกลุ่มบริษัท เทเลคอมเอเซีย กับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการไม่พบปฏิกิริยาเครื่องโทรศัพท์ PCT ตรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจที่ทำการทดสอบร่วมแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้โทรศัพท์ PCT ได้ในโรงพยาบาล นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเชีย ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (AWC) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบปฏิกิริยาของเครื่องโทรศัพท์ PCT ต่อเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งทางศูนย์โรคหัวใจฯ ได้ทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการโดยใช้เครื่องโทรศัพท์ PCT ของบริษัท 4 รุ่น คือ UNIDEN รุ่น TP 11U (หมายเลขเครื่อง 75588260), PANASONIC รุ่น VE-5058 (หมายเลขเครื่อง 75294558) , SHARP รุ่น SD-C4T (หมายเลขเครื่อง 75220319), NEC รุ่น TN 401 (หมายเลขเครื่อง 75504915) นายอติรุฒม์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทางศูนย์โรคหัวใจฯ โรงพยาบาลศิริราชได้ทดสอบร่วมกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ 7 รุ่น ด้วยกันคือ CPI รุ่น Vigor DDD, CPI รุ่น Vigor SSI, Medtronic รุ่น Premier VVI, Medtronic รุ่น Thera DDD, Teletronic รุ่น Reflex VVI, Teletronic รุ่น Reflex DDD, Pacesetter รุ่น Regency VVI, ในการทดสอบครั้งนี้อยู่ในการควบคุมดูแลของนายแพทย์ชาญ ศรีรัตนสถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากผลการทดสอบในครั้งนี้พอสรุปได้ว่า โทรศัพท์พื้นฐานพกพา PCT ไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการทำงานของเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ นอกจากนี้ บริษัทฯ เคยนำเครื่อง PCT ร่วมทดสอบกับเครื่อง เอ็กซเรย์ภาพตัดขวาง (CT Scan) ยี่ห้อ SIEMENS รุ่น SOMATON HIQ-S ,เครื่องมอนิเตอร์การเต้น หัวใจ ยี่ห้อ Morgulte รุ่น Trem-roc 4A , เครื่องช่วยหายใจ ยี่ห้อ Droger รุ่น Evita 2 ,เครื่องอบเด็ก ยี่ห้อ Droger Incubotor 8000 SC และการทดสอบกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องคอมพิวเตอร์ เป็น ตู้ Server ระบบข้อมูลและควบคุมระบบเครือข่าย LAN ของโรงพยาบาลเวชธานี ซึ่งได้รับการทดสอบโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จากการทดสอบ แม้จะนำโทรศัพท์ PCT ไปใกล้กับ เครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องมือแพทย์และคอมพิวเตอร์ จึงได้ออกหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการให้กับเครื่องโทรศัพท์ PCT ที่ทดสอบในครั้งนั้น และในอนาคตอันใกล้นี้ทางศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีแผนที่จะทำการทดสอบการใช้งานโทรศัพท์พกพา PCT ในขณะที่มีผู้ป่วยกำลังได้รับการติดตั้งเครื่องไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจว่าจะมีผลกระทบหรือรบกวนหรือไม่ ต่อไป การทดสอบโทรศัพท์พื้นฐานพกพา PCT ในครั้งนี้เพื่อตอกย้ำถึงความปลอดภัยในการใช้งาน PCT ตามหลักแนวคิด จำง่าย อุ่นใจ ปลอดภัย ประหยัด เพื่อให้ผู้ใช้บริการ PCT สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสะดวกสบายที่สุด และมั่นใจได้ว่าสามารถใช้โทรศัพท์ PCT ในโรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครได้อย่างปลอดภัย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 900-9900 หรือ ศูนย์บริการข้อมูลอัตโนมัติ PCT 900-9888--จบ--
-สส-