กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--กรมประมง
กรมประมงออกประกาศปิดป่าวไทย เป็นเวลา ๓ เดือนระหว่างวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ถึงวันที่ ๑๕ พฤษภาคมนี้ เพื่อปกป้องสัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ โดยเป็นการปิดอ่าวเป็นปีที่ ๑๗ ติดต่อกัน พร้อมกับเปิดโอกาสให้ชาวประมงได้ร่วมกับนักวิชาการออกสำรวจปริมาณสัตว์น้ำในอ่าวไทย ทั้งก่อนปิดอ่าว ระหว่างปิดอ่าวและหลังปิดอ่าวเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงถึงประโยชน์ของการปิดอ่าว นายธำมรงค์ ประกอบบุญ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สัตว์น้ำในอ่าวไทยกำลังวางไข่ และมีสัตว์น้ำวัยอ่อนเกิดใหม่จำนวนมาก ดังนั้น ระหว่างวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ถึง ๑๕ พฤษภาคมของทุกปี จึงห้ามทำประมงด้วยเครื่องมือบางประเภทในพื้นที่ ๓ จังหวัดในอ่าวไทย คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และ สุราษฎร์ธานี กรมประมงจึงได้ประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวมาตลอดและปีนี้เป็นปีที่ ๑๗ ซึ่งจะมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ในมาตรการปิดอ่าว โดยไม่มีการผ่อนผันเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ได้เปลี่ยนแปลงการห้ามใช้เครื่องมือประมงบางประเภทเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวประมงโดยลดความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือประมงขนาดเล็กและห้ามการใช้เครื่องมือประมงบางประเภทที่มีการทำลายสูง คือห้ามการใช้เครื่องมืออวนติดตาเป็นครั้งแรก เพราะจากการสำรวจของกรมประมงพบว่า เครื่องมืออวนติดตามีการทำลายสูงและไม่ควรใช้ในฤดูสัตว์น้ำวางไข่ อธิบดีกรมประมง กล่าวด้วยว่า ตลอดเวลา ๑๗ ปีที่กรมประมงประกาศมาตรการปิดอ่าวทำให้ชาวประมงบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้และคัดค้านมาตรการดังกล่าว ดังนั้น ในปีนี้สมาคมประมงได้ร่วมมือกับกรมประมงในการจัดส่งผู้แทนชาวประมงร่วมลงเรือกับคณะนักวิชาการในการสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวไทยทั้งก่อนปิดอ่าว ระหว่างปิดอ่าว และหลังการปิดอ่าว เพื่อตรวจสอบปริมาณของ สัตว์น้ำที่กำลังมีไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ปลาทูไข่แก่มีจำนวนเท่าไร จากการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือประมงในแต่ละเที่ยวและประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ เพื่อให้ชาวประมงได้มีโอกาสตรวจสอบงานวิจัยของกรมประมงว่ามีความสมเหตุสมผลเพียงใดในการออกกฎหมายและห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทในการจับสัตว์น้ำในระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งการส่งชาวประมงร่วมเป็นสักขีพยานกับงานสำรวจวิจัยทางวิชาการของกรมประมงเป็นมติจากการประชุมพหุภาคีระหว่างผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมประมง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ๓ จังหวัดเห็นชอบ “ รู้สึกเห็นใจชาวประมงที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ต้องสูญเสียพื้นที่จับสัตว์น้ำในอ่าวไทยบางส่วนเป็นเวลา ๓ เดือน แต่ถ้ากรมประมงไม่ใช้มาตรการปิดอ่าวมา ๑๗ ปี อ่าวไทยคงไม่มีปลาให้จับแล้ว โดยเฉพาะปลาทู จึงขอให้ชาวประมงนำเรือไปจับสัตว์น้ำยังพื้นที่อื่นหรือถือโอกาสช่วงปิดอ่าวหยุดพักผ่อนซ่อมแซมเรือเพื่อคอยเวลาเปิดอ่าวออกไปทำประมงอีก หรือถือโอกาสช่วงปิดอ่าวหาประสบการณ์จากการประกอบอาชีพอื่น เพราะการลดจำนวนเรือประมงเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว”นายธำมรงค์กล่าว--จบ--
-สส-