จีอีจับมือชิน-เอทสุร่วมลงทุน 10,500 ล้านบาทตั้งโรงงานผลิตซิลิโคนในไทย

พุธ ๐๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๐๑ ๑๔:๓๔
กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--บางกอก พลับบลิค รีเลชั่นส์
- เป็นโรงงานผลิตซิลิโคนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
- จีอีสานต่อการลงทุนในไทย ชิน-เอทสุเปิดตัวสู่เมืองไทยเป็นครั้งแรก
- โรงงานผลิตระดับโลก ใช้เทคโนโลยีล่าสุดจากสองบริษัท
บริษัท เจเนอรัล อิเลคทริค (จีอี) ร่วมกับบริษัท ชิน-เอทสุ เคมิคอล แห่งประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยในงานแถลงข่าวที่มีนายสถาพร กวิตานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริม การลงทุน (บีโอไอ) ให้เกียรติเป็นประธานวันนี้ว่า ในตอนเช้าของวันนี้ทั้งสองบริษัทได้ร่วมลงนามในข้อตกลงจัดตั้งโรงงานที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันถือหุ้น เพื่อทำการผลิตไซเลนโมโนเมอร์และไซโลเซน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าที่มีซิลิโคนเป็นส่วนผสม โรงงานดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,500 ล้านบาท และจะเป็นโรงงานผลิตซิลิโคนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โรงงานแห่งนี้จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย มาบตาพุด โดยคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องผลิตได้ในปี 2546 และจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้
บริษัทร่วมทุนดังกล่าวมีชื่อว่า เอเชีย ซิลิโคนส์ โมโนเมอร์ จำกัด โดยมีบริษัทร่วมทุนของจีอีและโตชิบา ถือหุ้นร่วมกัน 50% และชิน-เอทสุ เคมิคอล ผู้ผลิตซิลิโคนรายใหญ่ของญี่ปุ่นถือหุ้น 50% ที่เหลือ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
"คาดว่าความต้องการซิลิโคนในเอเชียจะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต การตัดสินใจลงทุนในครั้งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อศักยภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวม และความเชื่อของเราที่ว่าประเทศไทยอยู่ในฐานะที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะแสดงบทบาทสำคัญในอนาคตที่สดใสของเอเชีย" มร. บิล ดริสโคล รองประธานและผู้จัดการทั่วไปของจีอี ซิลิโคนส์ ทั่วโลกกล่าว การผลิตซิลิโคนเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงและยังต้องอาศัยเทคโนโลยีล้ำยุคในการก่อสร้างและดำเนินงาน มร. ดริสโคล เปิดเผยว่า "การร่วมลงทุนทำให้ทั้งสองบริษัทสามารถจะสร้างโรงงานระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่าการลงทุน โดยใช้เทคโนโลยีล่าสุด"
มร. ดริสโคลกล่าวเสริมว่า "การตัดสินใจของจีอีที่จะเข้ามาตั้งโรงงานในเมืองไทยได้รับแรงสนับสนุนจากขนาดธุรกิจที่จีอีมีอยู่ในประเทศไทย ตลอดจนความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระยะยาวของประเทศและความสามารถของคนไทย" นอกจากนี้ มร. ดริสโคลยังได้แสดงความยอมรับบทบาทของบีโอไอในการดึงดูดการลงทุนโครงการนี้มาสู่ประเทศไทย
"การตัดสินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ระดับนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่ายนัก เราได้พิจารณาประเทศหลายประเทศที่จะใช้เป็นฐานการผลิต" มร. โอซามุ ฮิอุระ กรรมการผู้จัดการอาวุโสและผู้จัดการทั่วไปแผนกซิลิโคนของชิน-เอทสุ เคมิคอล กล่าว "เมื่อพิจารณาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม ตลอดจนความสะดวกสบายในการคมนาคมขนส่งและแหล่งก๊าซธรรมชาติคุณภาพที่มีอยู่ในประเทศแล้ว ทำให้เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งในการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย"
โรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตไซโลเซนในระยะแรกประมาณ 70,000 ตัน ทำให้เป็นโรงงานผลิตไซโลเซนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก วัตถุดิบที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้จะถูกป้อนโดยตรงให้กับโรงงานซิลิโคนของผู้ถือหุ้นที่ตั้งอยู่ในภาคพื้นแปซิฟิก
การลงทุนตั้งโรงงานในครั้งนี้จะก่อให้เกิดการว่าจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงมากกว่า 100 ตำแหน่ง
ซิลิโคนเป็นวัตถุดิบที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเกิดจากการผสมผสานกันทางเคมีของสารอินทรีย์กับสารอนินทรีย์
ซิลิโคนเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของยุคอนาคต เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม ซิลิโคนถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ อาทิ ในการผลิตชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ สินค้าอุปโภคและเสริมความงาม สิ่งทอ ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สารปลดปล่อยและวัสดุก่อสร้าง
จีอีเป็นบริษัทประกอบธุรกิจหลากหลายทั้งในด้านการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีและบริการ โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่ลูกค้าในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในทุกธุรกิจ
จีอี ซิลิโคนส์เป็นหน่วยธุรกิจมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐของจีอี พลาสติกส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตซิลิโคนระดับโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองวอเตอร์ฟอร์ด รัฐนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา จีอี ซิลิโคนส์มีพนักงาน 3,500 คน และผลิตผลิตภัณฑ์กว่า 4,000 ชนิด สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ใช้ซิลิโคนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น
สินค้าอุปโภค การก่อสร้าง การดูแลสุขภาพ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การบิน เครื่องสำอาง วัสดุเคลือบผิวพิเศษ เครื่องใช้ในครัวเรือนและสิ่งทอ ธุรกิจในเอเชีย แปซิฟิกของจีอี ซิลิโคนส์มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว มีกิจการซึ่งดำเนินงานภายใต้บริษัทจีอี โตชิบา ซิลิโคนส์ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างจีอีและโตชิบา คอร์ปอเรชั่นใน 13 ประเทศทั่วภูมิภาคและมีพนักงานมากกว่า 800 คน
บริษัท ชิน-เอทสุ เคมิคอล จำกัดเป็นบริษัทระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในญี่ปุ่น มีรายได้ทั่วโลกกว่า 6.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 50% มาจากกิจการในต่างประเทศ ชิน-เอทสุ เคมิคอลเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอุตสาหกรรมรายใหญ่ ซึ่งมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ พีวีซี เซมิคอนดักเตอร์ซิลิคอน ควอร์ตซ์สังเคราะห์ แม่เหล็กธาตุหายาก และสารเคลือบไวแสง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่บริษัทเป็นผู้นำทั่วโลกคือธุรกิจพีวีซี ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่อยู่ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและฮอลแลนด์ และธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ซิลิคอน ซึ่งมีฐานผลิตหลักอยู่ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สก๊อตแลนด์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชิน-เอทสุมีบริษัทในเครืออยู่ทั้งสิ้น 116 แห่ง มีพนักงานรวมกันกว่า 18,000 คนทั่วโลก
ซิลิโคนเป็นวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่ใช้ผลิตสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ของใช้ในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องสำอาง ไปจนถึงรถยนต์ วัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์การแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้งานในแขนงใหม่ๆ อีกหลายด้านที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา เทียบกับสารอินทรีย์ชนิดอื่นแล้ว ซิลิโคนจะมีคุณสมบัติเหนือกว่าในด้านความทนทานต่อความร้อนและความเย็น ตลอดจนมีคุณสมบัติไม่อมน้ำ และคุณสมบัติทางด้านไฟฟ้า นอกจากนี้ ซิลิโคนยังสามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันยาง เม็ดพลาสติก และวัสดุเม็ดละเอียด รวมทั้งสามารถรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างหลากหลาย
"ซิลิโคน" เป็นชื่อสามัญที่ใช้เรียกชนิดของโพลีเมอร์สังเคราะห์ซึ่งมีที่มาจากโครงสร้างของการสลับซิลิคอนกับออกซิเจน (พันธะไซโลเซน) โดยมีกลุ่มอินทรีย์อย่างน้อยหนึ่งกลุ่มเชื่อมโยงกับซิลิคอนผ่านธาตุคาร์บอนที่เชื่อมโดยตรงเข้ากับพันธะซิลิคอน
นอกจากนี้ยังมีคำที่เขียนคล้ายๆ กัน คือ "ซิลิคอน" ซึ่งหมายถึง สารที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะซิลิคอนตัวนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นโลหะสีเทาเข้ม ใช้ทำแผงวงจรเซมิคอนดักเตอร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท บางกอก พลับบลิค รีเลชั่นส์ จำกัด อนัญญา โศภิษฐกมล (ต่อ 110) หรือ ฮัสซัน บาซาร์ (ต่อ 105) โทร 664 9500 แฟกซ์ 664 9515--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ