กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--เอ็มเอ็มซี สิทธิผล
เอ็มเอ็มซี สิทธิผล พร้อมประกาศนโยบายการดำเนินงานปี 2544 มุ่งสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า เน้นกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐาน ISO 9002 เวอร์ชั่น 2000 การบริการลูกค้าที่สามารถสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าเป็นหลัก และส่งเสริมการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาสู่ระบบ ISO 14001 ด้านการตลาดและการขายตั้งเป้าการจำหน่ายขอส่วนแบ่ง 12% ยืนยันยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ส่งออกอันดับ 1 ไว้อีกเช่นเดิม พร้อมขยายยอดส่งออกชิ้นส่วน และยกเครื่องการทำงานครั้งใหญ่โดยนำระบบ SAP เข้ามาใช้ สู่ความเป็นผู้นำด้านธุรกิจรถยนต์ระดับโลก
ดร. วัชระ พรรณเชษฐ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิ ประเทศไทย เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของบริษัทฯ ประจำปี 2544 ว่ามีนโยบายหลัก 6 ประการ คือนโยบายด้านการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า หรือ TCS (Total Customer Satisfaction) โดยการเพิ่มสำนักงานบริหารความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้า (TCS and Network Management Office) เพื่อดูแลงานเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมส่งเสริมการทำงานที่คำนึงถึงการรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาสู่ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของบริษัทฯ ในการทำงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นโยบายด้านการตลาดและการขาย สำหรับตลาดในประเทศน่าจะมีการเติบโตในอัตราใกล้เคียงเท่ากับปี 2543 คือ ประมาณ 24% ซึ่งคาดว่าจะมีตัวเลขตลาดรวม 325,000 คัน แบ่งออกเป็น รถยนต์นั่ง , รถกระบะ , รถบรรทุก , รถอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 33 , 57 , 4 , 6 ส่วนมิตซูบิชิตั้งเป้าการจำหน่ายไว้ที่ 38,000 คัน หรือคิดเป็น 12% ของตลาดรถยนต์รวม โดยตลาดหลักยังคงเป็นตลาดของรถกระบะซึ่งตั้งเป้า 30,100 คัน, รถยนต์นั่ง 5,100 คัน, รถบรรทุก 2,600 คัน และรถอื่นๆ 200 คัน
นโยบายด้านส่งออก เริ่มขยายตลาดส่งออกรถยนต์ไปในแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกา พร้อมรักษาความเป็นผู้นำของรถกระบะแถบยุโรปและออสเตรเลีย และขยายตลาดส่งออกชิ้นส่วนภายใต้โครงการ AICO สำหรับเป้าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปมีจำนวน 63,000 คัน ชิ้นส่วนอะไหล่จำนวน 16,000 คัน รวมจำนวนทั้งสิ้น 79,000 คัน โดยหวังครองส่วนแบ่งของตลาด 50% ของตลาดส่งออกรวม
สำหรับนโยบายด้านการผลิต บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นกระบวนการผลิตรถยนต์ภายใต้คุณภาพและมาตรฐาน ISO 9002 เพื่อสร้างความมั่นใจในรถยนต์มิตซูบิชิให้แก่ลูกค้า นโยบายด้านบริหาร บริษัท ฯ นำระบบ SAP (System Application in data Processing) เข้ามาปรับปรุงการทำงานในสำนักงานใหญ่ เพื่อยกระดับสู่ความเป็นมาตรฐานระดับโลก โดยทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท สำหรับประโยชน์ของระบบ SAP จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของงานด้านเอกสารต่างๆ และเพื่อความกระชับคล่องตัวในการทำงาน เช่นสามารถประมวลผลหาจุดคุ้มทุนของรถยนต์ได้เมื่อราคาของชิ้นส่วนเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันรวดเร็วโดยไม่ต้องรอรายงานที่กินเวลาล่าช้า
นโยบายด้านอะไหล่ระบบ SAP จะเข้ามาช่วยในการเก็บข้อมูลสินค้าและคำนวนหาระยะเวลาการสั่งซื้ออะไหล่ในครั้งต่อไปได้ทันทีเพื่อป้องกันปัญหาอะไหล่ขาดสต๊อก ด้านการขายระบบ SAP จะเชื่อมโยงการทำงานระหว่างผู้แทนจำหน่ายกับสำนักงานใหญ่ โดยสามารถส่งซื้อขายผ่านระบบนี้
นโยบายด้านศูนย์บริการ ระบบ SAP สามารถคำนวณหาระยะเวลาการซ่อมรถยนต์ของลูกค้าได้ทันทีและสามารถตอบลูกค้าได้ว่าจะส่งมอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าได้เมื่อไร โดยบริษัทได้มอบหมายให้ บริษัท DFI Consulting (Thailand) Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกเป็นผู้ดูแลการวางระบบทั้งหมด ร่วมกับบริษัทสิทธิผล คอมพิวเตอร์ จำกัด ในเครือของบริษัท เอ็มเอ็มซี สิทธิผล จำกัด นโยบายด้านอะไหล่ มีแผนส่งเสริมการขายอะไหล่ประเภทขายเร็ว อาทิเช่น ไส้กรองน้ำมันเครื่องต่างๆ ให้มีราคาถูก และรักษาระดับราคาที่แข่งขันกันอย่างสมเหตุสมผล อีกกรณีหนึ่งอาจหาผู้ผลิตภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศ และนำระบบ SAP เข้ามาใช้พัฒนางานด้านอะไหล่ใหม่ทั้งหมด
ด้านแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2544 ดร. วัชระ กล่าวว่า "คงมีการเพิ่มของอุตสาหกรรมด้านการส่งออกรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อรวมยอดส่งออกรถยนต์ของมิตซูบิชิกับกลุ่มบริษัทส่งออกอื่นๆ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว คือ ตลาดส่งออกแทบทั้งสิ้น ในส่วนเรื่องของราคาน้ำมันที่เป็นตัวแปรในการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของลูกค้า เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเคยชินกับระดับราคาน้ำมันแล้วจึงเป็นเพียงปัจจัยเล็กน้อยเท่านั้นไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อยอดการขายรถยนต์"
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
อารยะ พงศ์เสาวภาคย์
รองผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ :
ประชาสัมพันธ์ (แตน,โจ,นุ้ย,ซิม)
โทรศัพท์ 908-8000 ต่อ 8390-8395--จบ--
-อน-