กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--ไดเร็ค เรสพ้อนท์ (ประเทศไทย)
"โรคภูมิแพ้" เป็นที่ตระหนักกันดีในสภาพสังคมปัจจุบันนี้ ถึงโรคภัยดังกล่าวอันเป็นปัญหาใหญ่ที่ควรได้รับการป้องกันตั้งแต่เยาว์วัย ก่อนจะสายเกินแก้ งานสัมมนาวิชาการ "คุณค่าอาหาร… เสริมคุณค่าชีวิตเด็กภูมิแพ้ได้อย่างไร" สนับสนุนโดยเนสท์เล่ โปรดักท์ส (ไทยแลนด์) อินค์ ในการให้ความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องแก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ
เนสท์เล่ ร่วมสนับสนุนจัดงานสัมมนาวิชาการระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อตระหนักถึงภัยอันตราย และแนวทางป้องกันสำหรับเด็ก โดยเฉพาะภาวะภูมิแพ้ในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเปรียบเสมือนดวงใจของพ่อแม่ โดยการสัมมนาครั้งนี้ มี รศ.พญ. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้และอิมมูนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และผู้ร่วมบรรยาย จำนวน 2 ท่าน คือ รศ.พญ. ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าหน่วยภูมิแพ้และอิมมูนวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.นพ. ประสงค์ เทียนบุญ หัวหน้าหน่วยโภชนศาสตร์ และศูนย์วิจัยโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงสาเหตุและที่มาของโรคภูมิแพ้ อาการ การวินิจฉัย วิธีการป้องกันภาวะภูมิแพ้ในทารก รวมทั้งแนะนำคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยความฉลาดทางด้านโภชนาการ
รศ.พญ. ชลีรัตน์ ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าหน่วยภูมิแพ้และอิมมูนวิทยา ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงเรื่องของภาวะการเกิดภูมิแพ้ทางด้านอาหารสำหรับทารก น้ำนม เป็นอาหารจำเพาะสำหรับทารกแรกเกิดทุกคน เพื่อทำให้ร่างกายเจริญเติบโต โดยน้ำนมมารดาเป็นนมที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ทั้งในความเหมาะสม คุณค่า และภูมิคุ้มกันโรค แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ ประการที่อาจทำให้มารดาไม่สามารถให้นมบุตรได้เพียงพอ นมผงจากนมวัว จึงกลายเป็นอาหารเสริมสำหรับทารกแทน โดยที่พ่อแม่มิได้ทันคิดว่าโปรตีนในนมวัวนั้นแตกต่างจากนมมารดา และร่างกายเด็กทารกยังมีระบบภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินอาหารที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า การแพ้นมวัว สำหรับเด็กทารกบางคนได้
สำหรับทารกที่พบอาการแพ้นมวัว มักพบบ่อยที่สุดในกลุ่มทารกวัยแรกเกิดถึงขวบปีแรก แม้แต่ในทารก ที่รับประทานนมมารดา ก็สามารถเกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน หากมารดารับประทานนมวัวขณะให้นมบุตร ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ พันธุกรรม ที่พ่อหรือแม่เป็นภูมิแพ้มาก่อน เป็นต้น ทั้งนี้ สาเหตุที่เราสามารถแก้ไข และป้องกันได้ น่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เป็นพ่อและแม่ ในเรื่องของโปรตีนในน้ำนมวัว ที่มีมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งโปรตีนบางชนิดสามารถทนต่อความร้อนได้ดี ดังนั้น การต้มก็มิอาจช่วยลดอาการแพ้ได้
จากรายงานหลายแห่งทั่วโลกพบว่า อาการสำหรับทารกที่แพ้นมวัว เกิดจากปัญหาของระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ จึงไม่สามารถย่อยและดูดซึมโปรตีนโมเลกุลใหญ่ที่พบในนมวัวได้ และเมื่อศึกษาลงไปถึงเรื่องระบบอิมมูนวิทยา ยิ่งพบว่าระบบภูมิคุ้มกันด่านนอก บริเวณเยื่อบุลำไส้ ทำหน้าที่ป้องกันมิให้เชื้อโรคเกาะติดเยื่อบุลำไส้ หรือป้องกันมิให้ผ่านเยื่อบุลำไส้ได้ ระบบภูมิคุ้มกันด่านนี้มีความสำคัญที่ทำหน้าที่ไม่ให้โมเลกุลใหญ่ๆ ดูดซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนระบบภูมิคุ้มกันด่านในใต้ชั้นเยื่อบุลำไส้ทำงาน จะมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ซึ่งผลการทำงานของระบบอิมมูน จึงทำให้มีสารก่อภูมิแพ้ (Antigen) เล็ดลอดเข้ามากระตุ้นให้ทารกเกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นได้ทั้งทางผิวหนังเป็นผื่นแดง, ลมพิษ, ตัวบวม หรือระบบทางเดินอาหาร เช่น เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลัน, ท้องเสียเรื้อรังและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เกิดอาการช็อค และโลหิตจาง จนอาจถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้น จึงควรป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดอาการ ด้วยการให้ความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับผู้เป็นพ่อแม่ ให้รับรู้ถึงสาเหตุ ที่มา และลักษณะอาการอันสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งควรเตรียมพร้อมอย่างถูกวิธี ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนจึงควรคำนึงถึงอาหาร และโภชนาการที่ดีเหมาะสมสำหรับทารก โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก นอกจากการให้น้ำนมมารดาครั้งแรกแล้ว หากจะให้น้ำนมอื่นสำหรับลูก จึงควรเป็นน้ำนมที่มีส่วนผสมของสูตร ไฮโปอัลเลอเจนิก (Hypo Allergenic) ที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดภูมิแพ้ในทารกได้ เพราะมีส่วนประกอบของโปรตีนเวย์ ไฮโดรไลเสท (Whey Hydrolysate) ที่ผ่านกระบวนการย่อยโดยเอนไซม์มาแล้ว ทำให้โปรตีนมีโมเลกุลขนาดเล็กลง ย่อยง่าย และดูดซึมได้ดีขึ้น ไม่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ เหมาะสำหรับทารก ซึ่งมีระบบทางเดินอาหาร และระบบย่อยยังไม่สมบูรณ์
รศ.นพ. ประสงค์ เทียนบุญ หัวหน้าหน่วยโภชนศาสตร์ และศูนย์วิจัยโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี (Quality of Life - QL) ด้วยความฉลาดที่จะเลือกสรรในการโภชนาการที่ดีสำหรับตนเอง อันหมายถึงการมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทั้งในคนปกติ และผู้ป่วย กล่าวโดยรวมถึงสภาพชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ทั้งทางสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี ความรู้ทางวิชาการที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ส่งผลให้วิถีการดำรงชีพ และการเลือกรับประทานเป็นไปอย่างรีบเร่งตามกระแสสังคมที่เร่งรีบอยู่ทุกขณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อ สภาวะโภชนาการ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะประชากรเด็ก
จากรายงานสภาวะเด็กโลกปี ค.ศ. 2001 ได้เน้นถึงคุณภาพของชีวิตเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด - 3 ปี เพราะเป็นช่วงวิกฤตแห่งชีวิต เป็นช่วงที่กำหนดถึงอนาคตของเด็กคนนั้นว่าจะดำเนินไปอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญ นั่นคือ ความฉลาดทางด้านโภชนาการ (Nutrition Quotient -NQ) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบ ดังนี้ ความฉลาดที่ทำให้ตัวเองมีภาวะโภชนาการที่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งในเรื่องของการเลือกชนิดของอาหารที่รับประทาน การเลือกซื้ออาหาร การปรุงอาหาร การประเมินภาวะโภชนาการของตนเอง ปริมาณในการรับประทานอาหารแต่ละชนิด และการค้นคว้าหาความรู้ทางโภชนาการ นอกจากนี้ เราควรปฏิบัติให้ได้อย่างเคร่งครัด และเผยแพร่ต่อบุคคลอื่น หากเราสามารถปฏิบัติตัวได้เช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้คุณภาพของขีวิตตนเองดีขึ้น ดังที่ว่า สุขภาพจิตที่ดีอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันอย่างมีความสุขและยืนนาน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท ไดเร็ค เรสพ้อนท์ (ประเทศไทย)
คุณนฤมล แสงระ (มล)
คุณรัชนี อุ่นจิตต์ (แหม่ม)
โทร. 332-8555 ต่อ 126--จบ--
-อน-