กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--อย.
6 แกนนำหลักร่วมมือกันพัฒนาแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ เน้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และประสานความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง ครบวงจรตลอดห่วงโซ่อาหาร งานนี้ ผู้บริโภคยิ้มรับได้แน่ เพราะทุกหน่วยงานพร้อมทำงานเต็มที่ เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพ
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านอาหารจึงเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐบาลให้ความสนใจและเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังมีปัญหาเกี่ยวกับความสะอาดปลอดภัยของอาหาร โดยพบว่ายังคงมีผู้ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษในอัตราที่สูง มีการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อโรค และสารเคมีในอาหารหลายๆ ชนิด มีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีชนิดต่างๆ เข้าช่วยเพื่อเพิ่มผลผลิตอาหาร เช่น สารซาลบูทามอล (Salbutamol) วัตถุอันตรายกำจัดแมลง เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถทำลายได้หมดในกระบวนการผลิตหรือแปรรูป จึงเห็นได้ว่าความเสี่ยงของอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภคเกิดขึ้นได้ทั้งในสถานที่ผลิต จำหน่ายและบริการ ตลอดห่วงโซ่อาการ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต วัตถุดิบ การแปรรูปเบื้องต้น การกระจาย ขนส่ง การปรุง การจำหน่าย ไปจนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของอาหารจึงต้องมีการประสานความร่วมมือกันทุกหน่วยงานที่กำกับดูแลในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้สามารถดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างครงวงจรตลอดห่วงโซ่อาหาร
จากเหตุผลความเป็นมาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการประชุมโต๊ะกลมเรื่องระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ ในวันนี้ (17 กันยายน 2544) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้จับมือกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวกับอาหาร คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกรุงเทพมหานคร เปิดเวทีระดมสมองพัฒนาแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ โดยการประชุมครั้งนี้มีการลำดับความสำคัญกำหนดเรื่องที่เป็นปัญหาเร่งด่วน ที่จะดึงมาทำเป็นโครงการร่วมเพื่อความปลอดภัยด้านอาหารครบวงจร และเน้นให้ทุกหน่วยงานมีการวางแผนทำงานร่วมกันในเรื่องเดียวกันนั้นอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง ครบวงจร ไม่มีช่องว่างระหว่างรอยต่อ ทั้งนี้จะไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าของเรื่องแต่เพียงหน่วยเดียวอย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมอบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก หรือ Project Manager ทำหน้าที่ประสานการทำงานของทุกหน่วยงานในโครงการนั้น และรวบรวมผล รายงานผลเป็นภาพรวมของประเทศนำเสนอคณะอนุกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ ซึ่งจะนำเสนอคณะกรรมการแห่งชาติด้านอาหารต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้สรุปได้ว่า โครงการร่วมครบวงจรที่จะทำก่อนในปีหน้า ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารซาลบูทามอล สารบอแรกซ์ ยาสัตว์ตกค้าง และจุลินทรีย์อาหารเป็นพิษในเนื้อหมู หน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานหลักคือ กรมปศุสัตว์ โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืชในผัก ผู้ประสานงานหลักคือ กรมวิชาการเกษตร โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากยาสัตว์ตกค้างและจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษในเนื้อไก่ ผู้ประสานงานหลักคือ กรมควบคุมโรคติดต่อ โครงการแก้ไขปัญหาสารตกค้างจากยาต้านจุลชีพและความเสี่ยงอื่นๆ ในกุ้งเลี้ยง ผู้ประสานงานหลักคือ กรมประมง โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารกลุ่ม 3-เอ็มซีพีดี (3-MCPD) ที่เกิดจากกระบวนการผลิตซอสปรุงรสจากถั่วเหลือง ผู้ประสานงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โครงการแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของอาหารที่ปรุงและจำหน่ายในร้านอาหาร ผู้ประสานงานหลัก คือ กรมอนามัยและโครงการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่จำหน่ายในตลาดสด ผู้ประสานงานหลักคือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมต่างก็ยินดีที่จะประสานการทำงานร่วมกันในการดำเนินการสร้างระบบความปลอดภัยให้กับอาหารอย่างครบวงจร ซึ่งประโยชน์ที่ได้จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างแน่นอน--จบ--
-นห-