กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดอัตราการสูบบุหรี่คนไทยไม่ให้เกินร้อยละ ๒๒

อังคาร ๐๒ ตุลาคม ๒๐๐๑ ๑๓:๕๗
กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สธ.
กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาข้อสรุปประเมินผลการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบในภาพรวมระดับชาติ และวางแผนควบคุมการบริโภคยาสูบ ตั้งเป้าหมายภายใน ๕ ปีข้างหน้านี้จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้อยู่ในอัตราไม่เกินร้อยละ ๒๒
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อจัดทำแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับชาติ ซึ่งประเด็นหลักคือ มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนคุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้น้อยที่สุด แต่เนื่องจากปัญหาพิษจากควันบุหรี่เป็นปัญหาสาธารณะ การแก้ไขต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๒๕ จึงต้องมีการทบทวนเพื่อกำหนดรูปธรรมทางการปฏิบัติให้ชัดเจนและทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น
นางสุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทำแผนควบคุมการบริโภคยาสูบระดับชาตินี้ ได้มอบนโยบายให้กำหนดแผนขั้นตอนแต่ละปี และมีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ ๙ (พ.ศ.๒๕๔๕|๒๕๔๙) ได้ตั้งเป้าหมายจะลดอัตราการสูบบุหรี่ไม่ให้เกินร้อยละ ๒๒ ทั้งนี้ ในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมาตั้งเป้าลดไม่เกินร้อยละ ๒๕ จากผลการดำเนินงานพบว่า บรรลุตามเป้าหมายคือ มีผู้สูบ บุหรี่ในอัตราร้อยละ ๒๒.๔ ซึ่งความสำเร็จของไทยในการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นที่ยอมรับจากองค์การ อนามัยโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแผนควบคุมการบริโภคยาสูบที่จะเป็นแผนระดับชาติไม่ใช่เป็นแผนของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น มติที่ประชุมจึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ ๔ ชุด ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวข้องได้แก่ ส่วนท้องถิ่น เทศบาล ผู้ประกอบการ ผู้แทนผู้บริโภค พนักงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย เจ้าพนักงาน โดยชุดที่ ๑ จัดทำแผนการควบคุมการบริโภคยาสูบในระดับชาติ โดยจะศึกษาประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อหาข้อสรุปด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่เริ่มดำเนินการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๔ ชุดที่ ๒ ทำหน้าที่พิจารณาแผนการคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ คือ การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบ บุหรี่ พ.ศ.๒๕๓๕
ชุดที่ ๓ ทำหน้าที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงคำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพบนซองบุหรี่ เพื่อเป็น การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.๒๕๓๕ ชุดที่ ๔ ทำหน้าที่ พิจารณาการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เรื่องโทษพิษภัยบุหรี่ใช้เวลาดำเนินการ ๒ เดือน และจะประชุมติดตามความคืบหน้าในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔
ทางด้าน พ.ญ.วราภรณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ กล่าวว่า จากการประเมินผลทางด้านจำนวนบุหรี่ที่สูบและผลของการขึ้นภาษีบุหรี่พบว่า มีทิศทางดีขึ้น โดยจำนวนบุหรี่ที่สูบลดลงจากเคยสูบคนละ ๑,๐๗๖ มวนต่อปี ในปี ๒๕๓๘ เหลือคนละ ๘๑๐ มวนต่อปี ในปี ๒๕๔๓ ส่วนภาษีสรรพสามิตบุหรี่เพิ่มขึ้นจาก ๒๒,๙๑๑ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๘ เป็น ๒๓,๕๘๑ ล้านบาท ในปี ๒๕๔๓ แสดงว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ การจัดเขตปลอดบุหรี่ การประชาสัมพันธ์ป้องกันการสูบบุหรี่และสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง อย่างไรก็ดี ในการเพิ่มพื้นที่เขตปลอดบุหรี่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ดังนั้น สถาบันควบคุมการบริโภคยาสูบ จึงเปิดอินเทอร์เน็ตรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ www.dms.moph.go.th ด้วย--จบ--
-สส-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ