กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--อย.
กระทรวงสาธารณสุขจับมือหลายหน่วยงานจัดเวิร์คชอปสร้างระบบความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นให้ปลอดภัยตั้งแต่ที่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร ย้ำชัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติให้สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค
น.พ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และน.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ความปลอดภัยด้านอาหารเป็นหนึ่งในสามนโยบายเด่นที่รัฐบาลให้ความสนใจและตั้งใจที่จะมอบให้กับประชาชนผู้บริโภค เพื่อเป็นฐานทางด้านสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้ ในปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารขึ้นหลายครั้ง เช่น กรณีการปนเปื้อนสารพิษในอาหาร อาหารเป็นพิษ และสารตกค้างในอาหารต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภค จึงได้จัดให้มีโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการประจำปี 2544 เรื่อง ระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ ภายใต้แผนพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับผิดชอบในการประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันผลักดันให้เรื่องดังกล่าวเป็นรูปธรรมที่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะแรก อย.ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติได้จัดประชุมระดมความคิดร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ปี 2535 เพื่อประเมินสถานการณ์ ปัญหา เสนอวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และร่างแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติ ซึ่งต่อมาได้มีการทดลองนำไปใช้ปฏิบัติได้ระยะหนึ่งแล้ว และเพื่อให้แผนดังกล่าวได้มีการพัฒนาให้สอดรับกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ตามนโยบายหลักของประเทศ ที่มุ่งเน้นการปฏิรูประบบการทำงานให้มีความสอดคล้องร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนแผนดังกล่าวใหม่ ทั้งด้านนโยบาย รูปแบบการดำเนินงาน การประสานงาน และการติดตามประเมินผลอย่างมีระบบ เพื่อผลักดันให้แผนดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิผลสูงสุด
การพัฒนาแผนแม่บทระบบความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาตินี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันระดมสมองหาแนวทางพัฒนา โดยจะมีการประชุมในวันที่ 17 กันยายน 2544 นี้ ที่ห้องประชุมจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้ระบบความปลอดภัยด้านอาหารมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหาร พร้อมทั้งลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการด้วย
การประชุมครั้งนี้หวังผลให้ประชาชนผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย ประชาชนจะได้มั่นใจได้ว่าอาหารที่ผลิต จำหน่าย แปรรูป ขนส่ง ปรุงผสม ไปจนถึงเมื่อขึ้นโต๊ะอาหารมีความปลอดภัยในการบริโภค (Food Safety, From Farm to Table)--จบ--
-นห-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ กระทรวงสาธารณสุขจับมือกระทรวงคมนาคม แจกอุปกรณ์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่บนยานพาหนะสารสาธารณะรับเทศกาลปีใหม่
- ธ.ค. ๒๕๖๗ กรมการแพทย์ถอดบทเรียนการทำงาน จากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 56-57 เตรียมพัฒนาเป็นระบบและจัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติงาน
- ธ.ค. ๒๕๖๗ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข จับมือ เรกคิทท์เบนคีเซอร์จัดงานมหกรรมวาเลนไทน์