กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (18 เม.ย. 44) เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยสามัญ สมัยที่ 2 (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2544 นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของ พ.อ. พิบูลย์ศักดิ์ นาคีรักษ์ สก.เขตจตุจักร เรื่อง ขอให้ฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครพิจารณาให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจสำรวจความลึกของชั้นดินในเขตกรุงเทพมหานคร
พ.อ.พิบูลย์ศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการทำสัญญาก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครกับบริษัทผู้รับจ้าง มีการกำหนดความยาวของเสาเข็มไว้ในสัญญาโดยประมาณการจากข้อมูลการสร้างอาคารในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งได้ทำการขุดเจาะสำรวจชั้นดินลงไปแล้วพบว่าต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวที่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาผู้รับจ้างต้องคืนเงินให้กรุงเทพมหานคร และหากเจาะสำรวจชั้นดินแล้วพบว่าต้องใช้เสาเข็มที่มีความยาวเกินกว่าที่กำหนดในสัญญา กรุงเทพมหานครต้องเพิ่มวงเงินงบประมาณให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจทำให้กรุงเทพมหานครมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางราชการประกอบการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จึงขอให้ กรุงเทพมหานครจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ในการเจาะสำรวจความลึกของชั้นดินในกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบในการกำหนดความยาวของเสาเข็มได้แน่นอนในแบบรายการก่อสร้างอาารขนาดใหญ่
ด้านนายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะมีการใช้ข้อมูลการสำรวจสภาพพื้นดินของกรมทรัพยากรธรณี หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เป็นข้อมูลในการคำนวณหามาตรฐานของเสาเข็ม ซึ่งข้อมูลต่างๆ อาจจะมีความคลาดเคลื่อน เพราะสภาพพื้นผิวดินแต่ละที่มีความแตกต่างกันมากจะยึดเป็นเกณฑ์ไม่ได้ ก่อนการก่อสร้างจะต้องมีการสำรวจสภาพดินในบริเวณนั้นอีกครั้งเพราะจุดที่ก่อสร้างอาจจะมีสภาพดินต่างจากจุดที่เคยสำรวจมาแล้ว ฉะนั้นการสำรวจสภาพพื้นดินควรจะเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมา เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน ซึ่งวิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนนิยมใช้กัน
นายพินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีการพิจารณาญัตติของนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงขั้นตอนในการรับเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร เพื่อให้เกิดความสะดวกและ รวดเร็วขึ้น โดยนายสุทธิชัย กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากได้ส่งเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคารมีความล่าช้า เจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคารไม่สามารถตรวจสอบได้ในทันทีว่ามีเอกสารและหลักฐานประกอบครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งกรุงเทพมหานครไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในก่ารจัดเตรียมเอกสาร หลักฐาน เพื่อใช้ประกอบการขออนุญาตดังกล่าวให้ชัดเจน จึงเป็นเหตุให้การพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคารมีความล่าช้ายิ่งขึ้น เนื่องจากต้องเสียเวลาในการแจ้งให้ผู้ขออนุญาตนำเอกสาร หลักฐานมาเพิ่มเติมให้ครบถ้วน
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว เป็นการแก้ปัญหาข้างต้นและแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการให้บริการประชาชน จึงขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงขั้นตอนในการขอรับเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคาร โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่าต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานอะไรบ้าง รวมทั้งให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการรับเรื่องขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคารที่จะสามารถตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ประชาชนได้ในทันที
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันการออกแบบบ้านถ้ามีวิศวกรที่มีมาตรฐานรับรองสามารถที่จะยื่นเรื่องและก่อสร้างได้ทันที แต่ที่ผ่านความล่าช้าเกิดจากการว่าจ้างผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิมาออกแบบ เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบก็จะพบปัญหา จึงไม่สามารถให้ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ ทางสำนักงานเขตควรจะมีที่ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์การออกแบบเพื่อขออนุญาตปลูกสร้างหรือต่อเติมอาคารจะต้องทำอย่างไรบ้าง และทางฝ่ายบริหารจะทำการตรวจสอบเจ้าหน้าที่เขตที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยจะมีการศึกษาข้อมูลย้อนหลังของแต่ละเขตและจะมีการ ซักถามในข้อสงสัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งจะดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
นายพินิจกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 2 ญัตติดังกล่าวและทางสำนักเลขานุการสภากทม.จะนำเรื่องเสนอฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการต่อไป--จบ--
-นห-