กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์
การแข่งขันฟอร์มูล่า วัน รายการโมนาโค กรังด์ปรีซ์ ที่กำลังจะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคมนี้ นับเป็นการแข่งขันสนามที่ตื่นเต้นเร้าใจและเป็นที่นิยมสูงสุดสนามหนึ่งของฤดูกาลแข่งขัน ทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งต่างเตรียมทีมอย่างเต็มที่ รวมทั้งทีมบี เอ อาร์ ฮอนด้า และจอร์แดน ฮอนด้า ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษเพื่อการประลองความเร็วในรายการนี้
ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อน (Driveability) อัตราการประหยัดน้ำมัน (Fuel Economy) และระบบควบคุมการหมุนฟรีของล้อ (Traction Control) เป็นสามปัจจัยแรกที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งบนถนนแคบๆ ในเมืองโมนาโคซึ่งครั้งหนึ่งเนลสัน ปิเกต์ อดีตแชมป์โลกในทีมฮอนด้าเคยเปรียบไว้ว่า "เหมือนกับการขี่จักรยานในห้องนั่งเล่น" และด้วยลักษณะคดเคี้ยวของสนามยาว 3.3 กม. ที่สามารถใช้ความเร็วเพียงแค่ 25 ไมล์ต่อชั่วโมงจนถึง 180 ไมล์ต่อชั่วโมง รถแข่งไม่เพียงต้องการพลังจากเครื่องยนต์อันทรงสมรรถนะเท่านั้น แต่ยังต้องการประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนและอัตราประหยัดน้ำมันสูงสุดของเครื่องยนต์
รูปแบบสนามแข่งที่มีความคดเคี้ยวและแคบของโมนาโค ทำให้รถแข่งไม่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เครื่องยนต์ที่มีกำลังสูงๆ หรือมีแรงม้าสูงสุดในรอบเครื่องยนต์สูง ไม่สามารถแสดงผลงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผลความสำเร็จในการแข่งรายการนี้ คือ เครื่องยนต์ที่ผลิตกำลังสูงสุดได้ในรอบเครื่องยนต์กว้าง โดยกำลังสูงสุด (หรือเกือบทั้งหมด) จากเครื่องยนต์ควรจะอยู่ในรอบเครื่องยนต์ระหว่าง 5,000 - 17,000 รอบ/นาที ดังนั้น ประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนสำหรับโมนาโค กรังด์ปรีซ์ จึงขึ้นอยู่กับลักษณะของเครื่องยนต์ ยิ่งมีเคิร์บของกราฟแรงม้าสูงสุดที่กว้างมากเท่าใด ยิ่งทำให้ได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น
เครื่องยนต์ที่มีอัตราการประหยัดน้ำมันสูงสุดคือปัจจัยสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ช่วยให้ทีมแข่งประสบความสำเร็จ เพราะนั่นหมายถึงระยะทางต่อปริมาตรน้ำมันที่รถจะวิ่งได้มากขึ้น และจะส่งผลดีต่อแผนการเข้าพิท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแข่งขันที่โมนาโคซึ่งทีมแข่งมักวางกลยุทธให้รถของตนเติมน้ำมันไว้มากๆ เครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมันจะช่วยให้แผนการเข้าพิทของทีมมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะทีมสามารถเลือกเวลาที่จะเข้าพิทได้ และยังมีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อรถแข่งอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องวิ่งตามหลังรถช้า (back-markers) หรือขณะอยู่ในกลุ่มรถแข่งที่เบียดเสียดกันอยู่ คุณสมบัติของเครื่องยนต์ข้อนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการควอลิฟายด้วยเช่นกัน เพราะรถแข่งที่ประสบความสำเร็จในสนามที่ยากแก่การแซงนี้มักได้อันดับควอลิฟายที่ดี
ระบบควบคุมการหมุนฟรีของล้อ (Traction Control) หรือระบบควบคุมล้อขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ซึ่งนำกลับมาใช้ในการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ครั้งนี้เป็นสนามที่สาม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะมีบทบาทต่อการแข่งขันเนื่องจากเป็นอุปกรณ์อิเลคโทรนิคที่ช่วยลดการหมุนฟรีของล้อ อันจะทำให้รถแข่งเข้าโค้งได้ดียิ่งขึ้น ฮอนด้าได้มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์ให้ทำงานสอดประสานกับระบบนี้เพื่อช่วยลดอัตราการสูญเสียกำลังเครื่องยนต์ให้น้อยที่สุดในขณะการทำงานของระบบ และบทบาทของระบบนี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นในรอบท้ายๆ ของการแข่งขันที่ปริมาตรน้ำมันของรถแข่งจะเหลือน้อยลงและยางมีการสึกหรอมากขึ้น
ในการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว ยาร์โน ทรุลลี่ จากทีมจอร์แดน ฮอนด้า ซึ่งเป็นนักแข่งที่ทำคะแนนได้สูงสุดของทีมฮอนด้าในขณะนี้ ออกสตาร์ทจากแถวหน้าหลังจากที่ทำเวลาในรอบควอลิฟายได้เป็นอันดับที่ 2 ด้วยรถที่ใช้เครื่องยนต์ของมูเก็น ฮอนด้า แน่นอนที่ความสำเร็จในครั้งนั้น ได้จุดประกายความหวังของทรุลลี่ในการแข่งขันที่โมนาโคในปีนี้อีกครั้ง หลังจากที่เพิ่งผิดหวังจากการแข่งขันออสเตรียน กรังด์ปรีซ์ ส่วนโอลิวิเยร์ ปานีส์ ซึ่งได้คะแนนสะสมมา 2 คะแนนจากตำแหน่งที่ 5 ในออสเตรียนกรังด์ปรีซ์ ณ สนามเอวัน-ริง และเคยคว้าชัยชนะอันดับหนึ่งในการแข่งขัน โมนาโค กรังด์ปรีซ์ ในอดีต คงจะมีความรู้สึกเหมือนกลับสู่ถิ่นเดิมในบรรยากาศแห่งชัยชนะเมื่อครั้งปี 1996 ที่เขาเป็นผู้เข้าเส้นชัยเป็นอันดับแรกด้วยเครื่องยนต์ของ มูเก็น ฮอนด้า เช่นกัน
รายละเอียดการแข่งขันรายการโมนาโคกรังด์ปรีซ์
ชื่อสนามแข่ง - Circuit de Monaco
ความยาวสนามแข่ง - 3.370 กม. หรือ 2.094 ไมล์
จำนวนรอบที่แข่ง - 78 รอบ
รอบคัดเลือก - วันเสาร์ที่ 26 พ.ค. 18.00 - 19.00 น. (เวลาประเทศไทย)
เวลาเริ่มแข่ง - วันอาทิตย์ที่ 27 พ.ค. เวลา 18.45 น. (เวลาในประเทศไทย)
ผลแข่งขันปี 2000
ผู้ชนะเลิศ - เดวิด คูลธาร์ด (แมคลาเรน) 1 ชม. 49 นาที 28.213 วินาที
ผู้ทำเวลาเร็วสูงสุดต่อรอบ - มิก้า ฮัคคิเนน (แมคลาเรน) 1 นาที 21.57 วินาที
ผู้ออกสตาร์ทในลำดับแรก - มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (เฟอร์รารี่)
(Pole position)
ผู้ทำความเร็วสูงสุด - มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (เฟอร์รารี่) 1 นาที 21.07 วินาที
ผลการแข่งขันโมนาโค กรังด์ปรีซ์ 2000 ของทีมฮอนด้า
ฌาคส์ วิลล์เนิฟ อันดับ 7 / ริคาร์โด้ ซอนต้า ไม่จบการแข่งขัน
ผลการแข่งขันของฮอนด้าในโมนาโค กรังด์ปรีซ์
เข้าร่วมแข่งขัน 12 ครั้ง ชนะเลิศ 6 ครั้ง (เซนน่า ปี 87, 89-92 และพรอสต์ ปี 88) ขึ้นโพเดียม 9 ครั้ง
ฮอนด้ากับชัยชนะในฟอร์มูล่า วัน
ไอร์ตัน เซนน่า 32 ครั้ง, ไนเจล มานเซลล์ 13 ครั้ง อแลง พรอสต์ 11 ครั้ง เนลสัน ปิเกต์ 7 ครั้ง เกอร์ฮาร์ด เบอร์-เกอร์ และรอสเบิร์ก 3 ครั้ง กินเธอร์และเซอร์ตีส์ 1 ครั้ง
ทีมผู้ผลิตที่ได้แชมป์โลกด้วยเครื่องยนต์ฮอนด้า
แมคลาเรน ฮอนด้า 44 ครั้ง วิลเลียมส์ ฮอนด้า 23 ครั้ง ฮอนด้า 2 ครั้ง และโลตัส ฮอนด้า 2 ครั้ง
บุคคลทั่วไปติดตามความเคลื่อนไหวของ ฮอนด้าในวงการฟอร์มูล่า วัน ได้ที่ www.hondaf1.com
เผยแพร่โดยบริษัทเอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ฮอนด้าประจำภูมิภาคอาเซียน หากท่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มิสเตอร์ ฮิโรชิ มิคาจิริ หรือ คุณพิมพร ศิริวรรณ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด โทรศัพท์ 236-0256 โทรสาร 635-1052--จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ฮอนด้า ยกระดับมาตรฐานพรีเมียมเอสยูวีไทย เปิดตัว ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ เจเนอเรชั่นที่ 5 ครั้งแรกกับขุมพลัง 1.6 ลิตร i-DTEC DIESEL TURBO
- พ.ย. ๒๕๖๗ ยอดส่งออกยานยนต์ฮอนด้าเพิ่มขึ้น 27% ในรอบ 10 เดือน ตรงตามเป้าส่งออกที่ตั้งไว้ 15,500 ล้านบาทในปีนี้
- พ.ย. ๒๕๖๗ วิลล์เนิฟขึ้นแท่น สู่ก้าวแรกแห่งความสำเร็จในฟอร์มูล่าวันยุคที่ 3 ของฮอนด้า