กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แก้ไขปัญหาเรื่องขยะ ที่ตำบลราชาเทวะ

พุธ ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๓:๒๖
กรุงเทพฯ--18 ก.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 16 ก.ค.44 เวลา14.30 น.นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายโยธิน ทองคำ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิทยา ผิวผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายโสภณ ตติโชติพันธ์ ผู้อำนวยการกองตรวจมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ และคณะ ได้นำสื่อมวลชน ผู้เกี่ยวข้องและผู้ที่ได้รับผลกระทบไปดูสถานที่ฝังกลบขยะและการทำงานของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พานิช จำกัด เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่ ปัญหากลิ่นขยะและปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากขยะ โดยมีนายพิชัย ไชยพจน์พานิช ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. บรรยายสรุปการทำงานและมาตรการต่างๆ
มาตรการแก้ไขปัญหา และกำหนดเวลาการเข้าไปเทมูลฝอย
ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กล่าวว่า มาตรการการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณที่ฝังกลบมูลฝอยดังกล่าว จะแบ่งการแก้ไขเป็น 2 ระยะ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ณ สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช แก้ไขปัญหาในระหว่างการขนส่ง และแก้ไขปัญหา ณ สถานที่ฝังกลบมูลฝอย ราชาเทวะ
ในส่วนของการแก้ไขปัญหา ณ สถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุชนั้น ทางหจก.ไพโรจน์ฯต้องทำการฉีดพ่นสารดับกลิ่นมูลฝอยที่จะบรรทุกไปฝังกลบและต้องมีผ้าใบปิดกระบะรถบรรทุกอย่างมิดชิด รวมทั้งหจก.ไพโรจน์ฯต้องทำความสะอาดภายในสถานีขนถ่ายมูลฝอยอ่อนนุช และถนนเข้า-ออก ทุกวัน และห้ามขนถ่ายมูลฝอยออกนอกสถานีฯหลังเวลา 15.30 น. สำหรับการดำเนินการแก้ไขในระหว่างขนส่งนั้น ทางหจก.ไพโรจน์ฯได้ทำการตรวจสอบการรั่วและชำรุดของรถบรรทุกขนถ่ายมูลฝอยทุกวันหลังเสร็จสิ้นการ ปฎิบัติงาน หากมีการรั่วไหลทางผู้รับเหมาจะทำการล้างน้ำชะมูลฝอยทันที นอกจากนี้ผู้รับเหมาจะทำการปรับปรุงและเพิ่มเติมระบบรวบรวมน้ำเสียของรถบรรทุก ในกรณีที่อาจมีน้ำเพิ่มขึ้นจากการฉีดพ่นสารดับกลิ่น ให้แล้วเสร็จภายใน 3 สัปดาห์
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหา ณ สถานที่ฝังกลบมูลฝอย ราชาเทวะนั้น กำหนดไม่ให้มีการเทมูลฝอยหลังเวลา 16.00 น. หากรถขนมูลฝอยมาถึงสถานที่ฝังกลบเกิน 16.00 น. จะให้จอดรถโดยไม่มีการเทมูลฝอย และยังต้องปิดผ้าใบให้มิดชิด ทั้งนี้ในการเทมูลฝอยผู้รับเหมาต้องเปิดหน้างาน (พื้นที่ฝังกลบมูลฝอย ) โดยใช้พื้นที่น้อยที่สุดเพียง 1 ไร่ประกอบกับการฉีดพ่นน้ำยาดับกลิ่นมูลฝอยด้วย และจะต้องใช้ดินกลบทับมูลฝอยให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 18.00 น. พร้อมทั้งมีการควบคุมกลิ่นจากก๊าซที่เกิดจากการฝังกลบและกลิ่นจากบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยให้ทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จะขอความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) จัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาศึกษา เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
ตั้งก.ก.ติดตามตรวจสอบปัญหาเรื่องขยะ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของกลิ่นและน้ำเสีย กทม.ได้มีการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยทางสำนักรักษาความสะอาด ได้มอบหมายให้ นายวัฒนา ล้วนรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด ดูแลและพบปะประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ในส่วนปัญหาของกลิ่นขยะนั้น ขอให้ประชาชนทราบว่ากทม.ในฐานะผู้ว่าจ้างได้เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเข้มงวด รวมทั้งจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ประกอบด้วยผู้แทนจากชุมชน 3 หมู่บ้าน(หมู่บ้านจามจุรี หมู่บ้านไทยสมุทร และหมู่บ้านลลิล กรีนวิลล์ ) โดยเลือกตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คน เข้าร่วมตรวจสอบกับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ องค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการและกรมควบคุมมลพิษ โดยในเดือนแรกคณะกรรมการจะทำการตรวจสอบสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เดือนถัดไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ทดลองน้ำยากำจัดกลิ่นขยะ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่ตนเดินทางมาวันนี้มิใช่เป็นการมาทำงานแบบผักชีโรยหน้าตามที่ได้มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ต้องการที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลิ่นเหม็น เพราะหากตนเองอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวก็ทนไม่ได้เหมือนกัน เมื่อครั้งแรกที่ตนเดินทางมาตรวจพื้นที่ ณ สถานที่ฝังกลบขยะแห่งนี้ ตนพอใจเนื่องจากเป็นบ่อขยะที่ไม่มีแมลงวัน โดยบริษัทได้ใช้น้ำยา อี เอ็ม แล้วผสมกับน้ำฉีดพ่น แต่มาบัดนี้ได้เกิดปัญหาเรื่องกลิ่น และทราบว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้นได้มีการสร้างกำแพงสแลนท์ยาวประมาณ 85 เมตร สูงประมาณ 10 เมตรทางด้านทิศเหนือ ซึ่งจาการที่ตนได้ไปตรวจสอบก็ให้ทางบริษัทแก้ไขเพิ่มเติมโดยให้ก่อสร้างกำแพงให้มีความยาวด้านละ 200 เมตร สูง 12 เมตร ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้เพื่อป้องกันแนวลมไม่ให้พัดกลิ่นขยะออกไปด้านหน้าและด้านหลัง อย่างไรก็ดียังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ 100 % แต่ขอย้ำว่าทางกทม.จะพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ปัญหาหมดไป
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 44 ได้มีบริษัทหนึ่งมาเสนอขอทำการสาธิตการบำบัดกลิ่นขยะและน้ำเสีย โดยฉีดน้ำยา เพียง 1 ครั้งชาวบ้านบอกว่าไม่มีกลิ่นขยะ ก็นับว่าเป็นข่าวที่ดี และตนเห็นว่าควรมีการฉีดน้ำยาบำบัดกลิ่นทุกๆ วัน หากฉีดน้ำยา 1 ครั้งได้ผล ก็จะให้มีการฉีดน้ำยาเพิ่มเป็นวันละ 2 ครั้ง และในวันที่ 17 ก.ค.44 จะมีอีก 1 บริษัทมาสาธิตผลิตภัณฑ์ของตนเองด้วย เช่นเดียวกัน ในการนี้หากการทดลองของทั้งสองบริษัทได้ผล ก็จะใช้ผลิตภัณฑ์ของทั้งสองบริษัท ส่วนค่าใช้จ่ายคงต้องเป็นความรับผิดชอบของ หจก.ไพโรจน์สมพงษ์พานิช จำกัด เนื่องจากจะต้องแก้ไขปัญหาตามสัญญาที่กำหนดไว้
สำหรับมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการกำจัดกลิ่นนั้น ทางกทม.จะได้มีการกวดขันให้บริษัทดำเนินการตามที่มีการตกลงไว้--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ