กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดสัปดาห์ “จำปีสิรินธร...พืชชนิดใหม่ของโลก บานนอกถิ่นกำเนิดและนอกฤดูกาล” หวังกระตุ้นการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายาก สู่การผลักดันเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ดร. นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า จากการที่ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. ภายใต้โครงการวิจัยการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ซึ่งเป็นโครงการย่อยของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ค้นพบ “จำปีสิรินธร” พันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก ในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำหรือป่าพรุน้ำจืดที่บ้านซับจำปา ตำบลซับจำปา อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี และที่ป่าพรุน้ำจืด ต. น้ำสวย อ. เมือง จ. เลย ปัจจุบันประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์นอกถิ่นกำเนิด ณ แปลงเพาะชำกล้าไม้ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ. ปทุมธานี ซึ่งในขณะนี้จำปีสิรินธร ได้ออกดอกบานนอกถิ่นกำเนิดและนอกฤดูกาล นับเป็นความสำเร็จและน่าชื่นชมยินดียิ่ง ดังนั้น เพื่อให้สังคมตื่นตัวร่วมอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากดังกล่าว วว.จึงได้จัดสัปดาห์ชมฟรี! “จำปีสิรินธร...บานนอกถิ่นกำเนิดและนอกฤดูกาล” ขึ้น ในระหว่างวันที่ 26-30 กันยายน 2548 เวลา 08.30-16.30 น. ผู้สนเข้าชมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. โทรศัพท์ 0 2577 9004-5 ในวันเวลาราชการ
ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้นจำปีสิรินธร จัดอยู่ในประเภทใกล้จะสูญพันธุ์ในสภาพธรรมชาติ เนื่องจากมีถิ่นกำเนิดอยู่เฉพาะในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะขึ้นอยู่ในป่าพรุน้ำจืด 2 แหล่งที่จังหวัดลพบุรีและจังหวัดเลยก็ตาม แต่ป่าพรุทั้งสองแหล่งก็ถูกคุกคาม น้ำแห้งในช่วงฤดูแล้งและเกิดไฟไหม้ มีโอกาสที่จะสูญพันธุ์ในแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติได้ แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศการค้นพบอย่างเป็นทางการว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกในปี พ.ศ. 2543 ทาง วว. ได้วิจัยในเรื่องการขยายพันธุ์ การปลูกเลี้ยงบำรุงรักษา การพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด แล้วมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ลงสู่เกษตรกรและผู้สนใจ ปรากฎว่ามีการปลูกจำปีสิรินธรเป็นไม้ประดับ เป็นพรรณไม้มงคลกันไปทั่วประเทศ รวมทั้งในต่างประเทศ เช่นที่ประเทศจีนและอินโดนีเซีย จัดว่าเป็นการปลูกนอกถิ่นกำเนิดและพบว่าออกดอกได้แล้ว ดังนั้นจำปีสิรินธรจึงเป็นพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งที่พ้นจากสภาพความหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ และรับรองได้ว่าจะไม่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยหรือจากโลกได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าอาจจะสูญพันธุ์ในสภาพถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติก็ตาม
การขยายพันธุ์จำปีสิรินธรสามารถกระทำได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด ตอน ทาบกิ่ง ติดตาและเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การทาบกิ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในด้านของความประหยัด รวดเร็วและตรงตามสายพันธุ์เดิม โดยใช้จำปาเป็นต้นตอ การปลูกกิ่งทาบจำปีสิรินธรเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้งบนพื้นที่ดอนที่ไม่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำแฉะ จึงจะเจริญเติบโตได้ดี แต่หากปลูกในพื้นที่น้ำท่วมขังหรือน้ำแฉะ ระบบรากของต้นตอที่เป็นจำปาจะเน่าตาย ในขณะที่การปลูกจากต้นกล้าเพาะเมล็ด ควรปลูกลงแปลงกลางแจ้ง ใกล้แหล่งน้ำ หรือดินมีความชื้นสูง จะเจริญเติบโตเป็นต้นขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว แต่หากปลูกต้นกล้าเพาะเมล็ดบนพื้นที่ดอนและขาดน้ำ ต้นกล้าจะไม่เจริญเติบโตหรือตายได้
“ การปลูกจำปีสิรินธรควรปลูกลงแปลงกลางแจ้ง เนื่องจากต้องการแสงแดดมากเต็มที่ จึงจะออกดอกได้ดี ต้นกล้าที่มีระบบรากเดิมของจำปีสิรินธร ได้แก่ต้นกล้าที่มาจากวิธีการเพาะเมล็ด การตอน เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ควรปลูกในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำหรือค่อนข้างชื้น ทนความชื้นแฉะได้ ไม่เหมาะสมต่อพื้นที่ระดับสูง พื้นที่แห้งแล้ง สำหรับต้นกล้าที่ไม่ใช่ระบบรากเดิมของจำปีสิรินธร ได้แก่ต้นกล้าที่มาจากวิธีการทาบกิ่ง ติดตา ควรปลูกในพื้นที่ดอนทั่วไป มีการระบายน้ำดี ไม่เหมาะสมต่อพื้นที่แฉะ น้ำท่วม เนื่องจากรากของจำปาที่เป็นต้นตอจะเน่าเสียหายได้ง่าย
ในการปลูกจำปีสินธรนั้นหากมีการควบคุมคุณภาพการผลิต สามารถนำไปจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชน สำหรับการปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ปรับปรุงทัศนียภาพภูมิทัศน์... เป็นการพัฒนาการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ” ดร.ปิยะกล่าว--จบ--
- ๒๓ พ.ย. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ยินดีต้อนรับ "ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ" ผู้ว่าการ วว.
- ๒๓ พ.ย. วว. ได้รับรางวัลกองทุนพัฒนาดีเด่น จากเวทีประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นครั้งที่ 12 ประจำปี 2567
- ๒๓ พ.ย. วว. ให้บริการตรวจประเมินและรับรองคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวประเภทชายหาด ตามมาตรฐาน ISO 13009 : 2015 สนับสนุนการยกระดับเมืองคุณภาพบริการท่องเที่ยว ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม