กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--มพช.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอแผนจัดตั้ง "สำนักงานส่งเสริมธุรกิจการประชุมนานาชาติ (Covention Burear) ให้รัฐอัดฉีดทุน 220 ล้านบาท เพื่อให้เป็นองค์กรอิสระรับหน้าที่สร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติ หวังเพิ่มรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศให้ไทยในภาวะวิกฤต
นางจุฑามาศ ศิริวรรณ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมของสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุมนานาชาติอันได้แก่ การประชุมนานาชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวับ และนิทรรศการหรือที่เรียกรวมกันว่า "ธุรกิจ ไมซ์ " (MICE: Meeting Incentive, Convention, Echibition) นั้นนับเป็นสาขาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง และประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติในภูมิภาค
อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ.2540-2541 จำนวนชาวต่างประเทศที่เข้ามาประชุมในประเทศไทยลดน้อยลงแล้วกลับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยในปี 2542 ดังนี้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงร่วมมือกับภาคเอกชนต่าง ๆ เตรียมรณรงค์ส่งเสริมการประชุมนานาชาติในไทยในปี 2545 ภายใต้โครงการ Amazing Thailand ; The Place to Meet
นอกจากนี้นางจุฑามาศ กล่าวว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นในการสร้างระบบการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ที่มีความเข้มแข็งและความถาวรเพื่อส่งเสริมความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
จากรายงานการศึกษาของสมาคมการประชุมระหว่างประเทศ (ICCA International Meetings Association) เปิดเผยว่าธุรกิจไมซ์มีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น กล่าว ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าแข่งขันเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยในปัจจุบันออสเตรเลีย และจีน เป็นประเทศที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
ตามแผนดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมธุรกิจการประชุมนานาชาติจะเป็นองค์กรอิสระจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญยัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพื่อให้มีความเป็นอิสระ คล่องตัวในการบริหารโดยได้รับความสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ
บทบาทสำคัญของสำนักงานฯ ได้แก่ การยกระดับธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าแข่งขันชิงการเป็นเจ้าภาพ ประชาสัมพันธ์ความพร้อมของประเทศไทย บริหารงานด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อบริการแก่ภาคธุรกิจ และวิเคราะห์/วางแผนเพื่อการพัฒนาธุรกิจไมซ์ในระยะยาวเป็นต้น
จากการศึกษาภาวะธุรกิจของสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) พบว่าในปี พ.ศ.2541-2543 ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจไมซ์ประมาณปีละ 28,000 ล้านบาท และในปัจจุบันพบว่าระหว่างปี พ.ศ.2543-2545 มีการประชุมระหว่างประเทศและนิทรรศการที่ยืนยันการจัดงานในประเทศไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 140 งาน ซึ่งจะทำรายได้ให้แก่ประเทศไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท--จบ--
-อน-