กรุงเทพฯ--27 มี.ค.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) แถลงกรณีแหล่งข่าวไม่ปรากฏชื่อ ออกมาให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่ามีการคอรัปชั่นใน ปตท. ทำให้ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ เสียชื่อเสียงและอาจกระทบกับการดำเนินงาน องค์กรไม่เป็นที่เชื่อถือของลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งผลสุดท้ายความเสียหายจะตกอยู่กับประเทศชาติ เพราะ ปตท.ประกอบธุรกิจทั้งใน และต่างประเทศ ดังนั้นหากมีผู้พบหลักฐานว่ามีการคอรัปชั่นใน ปตท. เรื่องใด ก็ขอให้แจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่เข้ามาตรวจสอบได้ตลอดเวลา
ผู้ว่าการ ปตท.กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหาร และพนักงาน ปตท.ได้ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนเกิดประสิทธิผลที่เห็นได้ชัดจากผลประกอบการ ซึ่ง ปตท.ได้แถลงต่อสาธารณะมาตลอด และแม้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ปตท. ก็สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี มีการพิจารณาลด เลิก และปรับปรุงการลงทุนในโครงการ และบริษัทในเครือจนผลประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2543 ที่ผ่านมามีผลประกอบการที่น่าพอใจ แม้ว่าในปีนี้ ปตท.ได้ใช้นโยบายชะลอราคาขายปลีกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จากภาวะน้ำมันที่แพงขึ้นตามต้นทุนตลาดโลก แต่ก็ได้ใช้กลยุทธ์สร้างโอกาสหาเงินตราต่างประเทศ จากการส่งออกน้ำมันส่วนเกิน ช่วยลดภาระการขาดดุลของประเทศ และเพิ่มศักยภาพของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทำให้ภาคการผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบ 15 % จากผลการดำเนินงานดังกล่าว น่าจะพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความสามารถและ
ประสิทธิภาพของผู้บริหาร ปตท.ทุกคนในภาพรวม อย่างไรก็ดีในภาพย่อยหากมีการคอรัปชั่น ปตท. ก็มีขบวนการที่จะดูแล และดำเนินการไม่ให้คนชั่วลอยนวลอยู่ใน ปตท.ได้ ซึ่งจะเห็นว่า ปตท. เองก็มีการสอบสวนและเอาผิดกับพนักงานที่มีเจตนาทุจริตอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นกรณีปกติเช่นเดียวกับบริษัททั่วๆ ไป ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารเข้าไปมีส่วนรู้เห็นอย่างไรก็ดี หากผู้ใดพบว่ามีการทุจริต ใน ปตท.ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับผู้บริหาร และพนักงาน ปตท.ก็ยินดีให้มีการตรวจสอบตามขบวนการทางกฎหมายตลอดเวลา
ทางด้านนายพิชัย ชุณหวชิร ผู้จัดการใหญ่ ปตท.น้ำมัน ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีที่ ปตท. ตรวจพบว่ามีคูปองน้ำมันปลอม และได้แจ้งความไว้แล้ว และขณะนี้อยู่ใน
ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น กรณีนี้มีความเป็นมาเริ่มจากที่ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2543 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคขนส่ง โดยให้กรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงให้ผู้ประกอบการขนส่งบรรทุกไม่ประจำทาง วงเงินงบประมาณ 313 .7 ล้านบาท โดยมีระยะเวลา 3 เดือน (9 ก.ย.-9 ธ.ค. 2543) และให้ ปตท.ช่วยจัดพิมพ์คูปองน้ำมันให้ ดังนั้น ปตท.จึงได้ว่าจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้พิมพ์คูปองน้ำมัน (เนื่องจาก ตามปกติ ปตท.ก็ให้กองสลากพิมพ์งานโครงการต่างๆ ของ ปตท.อยู่แล้ว) จากนั้นจึงส่งมอบให้กรมการขนส่งฯ เป็นผู้ดำเนินการนำคูปองฯ ไปแจกจ่ายแก่ผู้ประกอบการฯ เพื่อนำไปใช้เติมน้ำมันจากสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ทั่วประเทศต่อไป และสถานีบริการน้ำมันจะนำคูปองฯ มาซื้อน้ำมันจากคลังน้ำมัน ปตท. แต่เมื่อ ปตท.รวบรวมคูปองน้ำมันและทยอยส่งมอบให้กรมการขนส่งฯตรวจสอบ และนำไปเบิกเงินมาคืน ปตท. จึงทำให้ ปตท. และกรมการขนส่งพบว่ามีคูปองเกินปริมาณที่กรมการขนส่งฯสั่งพิมพ์ และนำไปแจกจ่ายผู้ประกอบการฯ จำนวนมาก
นายพิชัย กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ ปตท.เป็นมูลค่าประมาณ 60 ล้านบาท ปตท.จึงรีบแจ้งความ และมอบเรื่องให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี และการที่ ปตท.ยังไม่ได้เปิดเผยเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า มีเบาะแสเบื้องต้นว่าน่าจะมีผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างเป็นขบวนการและมีบุคคลที่ร่วมกระทำผิดจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาในการสอบสวนเพราะต้องการสาวไปให้ถึงต้นตอใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองนี้อีกต่อไป--จบ--
-สส-