กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กทม.
นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ยังมีพื้นที่อีกหลายเขตในกรุงเทพมหานครที่ชาวบ้านมีการทำนา โดยเฉพาะ 8 เ ขตรอบนอก ได้แก่ หนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม บางเขน คันนายาว และเขตสะพานสูง มีเกษตรกรทำนาถึง 7,987 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำนากว่า 125,369 ไร่ ผลิตข้าวเปลือกได้ถึง 200,474 ตัน/ปี ซึ่งทั้งหมดจะขายเป็นข้าวเปลือกทำให้ได้ราคาต่ำทั้ง ๆ ที่ข้าวสารมีราคาสูง แม้กระทั่งเกษตรกรที่ปลูกข้าวเองก็ต้องซื้อข้าวสารมากินเอง ในราคาแพง
กรุงเทพมหานคร จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการจัดตั้งโรงสีขนาดเล็กในชุมชน โดยรวมกลุ่มของเกษตรกรที่ทำนาในเขตรอบนอก 8 เขต ให้สามารถสีข้าวเพื่อใช้บริโภคเอง และขายในชุมชน เพราะเมื่อคำนวนแล้วจะสามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นโดยตรง อย่างน้อยครอบครัวละ 7,000 - 10,000 บาท/ปี นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้จากแกลบ รำข้าว ปลายข้าว ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น รำหรือปลายข้าวนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา แกลบนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ปลูกผักปลอดสารพิษ อันเป็นการสร้างเกษตรกรรมที่ครบวงจรเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง และเป็นการสนองพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วยทฤษฎีใหม่ในชุมชนของกรุงเทพมหานคร เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิตของคนไทย สร้างอาชีพเสริมรายได้เกษตรกร โดยโรงสีขนาดเล็กนี้จะใช้เงินแห่งละประมาณ 500,000 บาท ประกอบด้วย โรงสีขนาดเล็ก ลานตากข้าว โรงเก็บข้าวเปลือก โดยจะสร้าง 8 แห่ง ใน 8 เขต ซึ่งมีการทำนาเป็นจำนวนมากและกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม โดยจะให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการกันเอง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันเอง และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนด้วย
นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โครงการฯ ได้รับอนุมัติแล้ว และสำนักพัฒนาชุมชนจะได้เร่งดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นทั้ง 8 เขต รวมทั้งจะสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามโครงการ อีกทั้งช่วยเหลือให้กลุ่มเกษตรกรเข้าใจในการบริหารจัดการแปรรูปข้าวด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวด้วย--จบ--
-นห-