กทม. สรุปผลการรณรงค์ลดมลพิษทางอากาศในกทม.

ศุกร์ ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๐๐ ๐๙:๓๑
กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--กทม.
ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (6 ก.ค. 43) เวลา 12.00 น. ดร.พิจิตต รัตตกุล รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแถลงผลงานโครงการรณรงค์ลดมลพิษทางอากาศในกทม.
ดร.พิจิตต กล่าวว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับ บก.จร. กรมควบคุมมลพิษ ขสมก. และปตท. รณรงค์ลดมลพิษทางอากาศในเขตพื้นที่กทม. โดยได้กำหนด 13 มาตรการในการดำเนินการลดมลพิษอย่างต่อเนื่อง อาทิ การตั้งจุดตรวจควันดำ-ควันขาว 48 จุดทั่วกทม. และมีหน่วยเคลื่อนที่อีก 6 หน่วย คอยตระเวนตรวจจับ การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาและให้ความร่วมมือในมาตรการลดมลพิษ เช่น การดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อจอดรถ การกำหนดเขตควบคุมมลพิษทางอากาศในถนนที่มีความเข้มข้นของมลพิษสูง 8 สาย และปัจจุบันได้ขยายพื้นที่เป็น 45 ตารางกิโลเมตร เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับและรณรงค์ตามมาตรการ ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดในการบังคับให้รถบรรทุกที่แล่นเข้ามาในกรุงเทพมหานครใช้วัสดุคลุมสิ่งของที่บรรทุกกันการตกหล่น และให้ทำความสะอาดล้อเพื่อชะล้างฝุ่นละอองก่อนแล่นเข้ามาในเขตกทม. ปรับปรุงถนนและทางเท้าที่มีลักษณะเป็นดินที่มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจายด้วยการปูแอสฟัลต์ รณรงค์ติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษในวัด 20 แห่ง เป็นการนำร่อง และจะรณรงค์ให้วัดใช้เงินทุนของตนเอง เพื่อติดตั้งเตาเผาศพปลอดมลพิษให้ได้ครบทุกวัดทั่วกทม. รวมทั้งให้สถานที่ก่อสร้างต่างๆ ติดตั้งวัสดุกันฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินการต่างๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยประเมินจากการที่ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาถ้าไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศพบว่า คุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าแต่เดิมมาก ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลดลงอยู่ในระดับมาตรฐานที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผลการวัดคุณภาพทางอากาศในถนนปลอดมลพิษทั้ง 8 สาย เช่น ถนนราชปรารภ ก่อนรณรงค์เมื่อปี 2541 มีค่า pm-10 242 ?g/m3 หลังรณรงค์ค่า pm-10 ได้ลดไปเกือบ 25% เหลือค่า pm-10 เพียง 182 ?g/m3 โดยเฉพาะถนนพระราม 9 หลังการรณรงค์ ค่า pm-10 ลดลงไปกว่า 60% ซึ่งทั้ง 8 สาย มีความเปลี่ยนแปลงค่าเฉลี่ยลดลงตั้งแต่ 25-60% จำนวนรถควันดำ-ควันขาวก็ลดลงเป็นจำนวนมาก เพราะกทม. ได้กระจายจุดตรวจไปทั่วพื้นที่
นายสุพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กทม. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เป็นผลทำให้คุณภาพทางอากาศของกทม. ดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่อเทียบกับ 4 ปีที่ผ่านมา ผลการตรวจวัดเมื่อ 4 ปีที่แล้วจากการตรวจวัด 100 ตัวอย่าง พบว่ามี 25 ตัวอย่างที่มีระดับของมลพิษเกินมาตรฐาน ปัจจุบันเหลือแค่ 5 ตัวอย่าง ที่ยังเกินมาตรฐานอยู่ แสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศของกทม. ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของความเข้มแข็งของระบบราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับสิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไปคือ กรมควบคุมมลพิษจะนำมาตรการที่กทม. ดำเนินการอยู่ไปสานต่อในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยเทศบาลนครเชียงใหม่จะเป็นสถานที่แรกที่จะได้นำมาตรการดังกล่าวไปปฏิบัติ ทั้งนี้จะได้มีการวางแผนจัดทำกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะใช้ดำเนินการต่อไป
ดร.พิจิตต กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครไม่ได้หยุดความพยายามแก้ไขปัญหาเพียงเท่านี้ เพราะตราบใดที่กทม. ยังเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต้นตอที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศทั้งฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันพิษจากรถยนต์ ฯลฯ ก็ยังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นในปี 2543 กทม. จึงได้กำหนดนโยบายลดมลพิษทางอากาศเป็นเชิงรุกต่อเนื่องจาก 13 มาตรการเดิม เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจะบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตสำนึกของเจ้าของรถและความเอาใจใส่จริงจังของทุกหน่วยงาน ตลอดจนประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาและเห็นความสำคัญที่จะช่วยกันทำคุณภาพทางอากาศในกทม. ดีขึ้น ซึ่งกทม. เชื่อมั่นว่าการรณรงค์ลดมลพิษทางอากาศต้องสัมฤทธิ์ผล--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ 15 พฤศจิกายน 2567 ร่วมฉลองเทศกาลลอยกระทง กับ 5 โรงแรมหรูวิวริมทะเล ในเครือ เคป แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์
๑๖:๑๘ Blendata เปิดตัว Blendata Cloud บน Microsoft Azure Marketplace ยกระดับโซลูชัน Big Data ไทยสู่ระดับโลก
๑๖:๓๔ แอปเรียกรถ Maxim เปิดประสบการณ์บริการเรียกรถสุดพิเศษวันฮาโลวีน เซอร์ไพรส์จากคนขับที่คุณไม่ควรพลาด
๑๖:๑๔ เกษตรหนองหญ้าปล้อง จัดเวทีประชาคมและลงตรวจสอบพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ประจำปี 2567/68
๑๖:๔๗ เสริมความแกร่ง! ธุรกิจการบิน ม.ศรีปทุม เปิดเวทีบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญ ติดปีกให้นักศึกษาสู่ตลาดอุตสาหกรรมการบิน
๑๖:๕๗ Wayzim ปรับโฉมการจัดการคลังสินค้าด้วยระบบ ASRS Stacker Crane สำหรับประสิทธิภาพสูงสุด
๑๖:๔๑ การเคหะแห่งชาติ ระดมกูรูด้านภัยพิบัติ ตั้งรับ ปรับตัวกับภัยพิบัติ
๑๖:๑๑ ก.ล.ต. - ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประสานความร่วมมือ ยกระดับการทำหน้าที่กำกับดูแลตลาดทุนร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
๑๖:๕๗ ไทย-ไต้หวันร่วมยกระดับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เสริมแกร่งกำลังคนทักษะสูง สู่ฮับการผลิต PCB แห่งอาเซียน
๑๕:๔๐ JAS คว้า 5 ดาว 2 ปีซ้อน จากการประเมิน CGR 2024