กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาฯเปิดตัวปูพระพี่นาง ปูน้ำจืดสีสันสวยงามพันธุ์ใหม่ของโลก นักวิชาการวอนผู้พบสัตว์แปลก ส่งพันธุ์สัตว์ให้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา เพื่อรักษาความหลากหลายทางธรรมชาติ
นายไพบูลย์ นัยเนตร อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการค้นพบปูชนิดใหม่ว่า ปูพระพี่นางนี้ถูกค้นพบที่บริเวณฝั่งลำห้วย ต.ท่าแฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งลักษณะเด่นจะมีสีสันสวยงามมี 3 สี คือสีแดงเลือดนก แดงส้ม และสีขาว โดยประเทศไทยมีปูน้ำจืดมาก เรียกได้ว่าแทบจะมากที่สุดในโลก แต่มีหลายพันธุ์มากที่ยังไม่ถูกค้นพบ ทางจุฬาฯจึงอยากให้ผู้ที่ศึกษาธรรมชาติ ที่พบปูที่มีลักษณะแปลก ให้ส่งมาที่สถาบัน เพื่อจะนำมาศึกษาสร้างความหลากหลายให้กับธรรมชาติมากขึ้น
ด้านนายมงคล วงศ์กาฬสินธุ์ นักวาดรูปนก ผู้พบและเก็บตัวอย่างปูชนิดนี้ กล่าวว่า การที่ปล่อยให้สัตว์เหล่านี้อยู่ตามธรรมชาติเอง ไม่สามารถทำได้กับสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะอาจทำให้สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ได้ เช่น การเกิดไฟป่า จึงอยากให้ผู้ศึกษาธรรมชาติ หรือคนที่พบเห็นสัตว์ที่แปลกๆ เก็บตัวอย่างมาให้นักวิชาการศึกษา เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาเขียนเป็นตำรา กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางธรรมชาติ
นายมงคล กล่าวต่อถึงสถานการณ์ปูพระพี่นางในปัจจุบันในพื้นที่ที่พบว่า ไม่น่าเป็นห่วงมากเพราะชาวบ้านรับรู้ถึงประโยชน์ของปูว่าทำให้ดินชุ่มชื้น และไม่จับปูมาเป็นอาหารมากเกินไป แต่ในอนาคตการขยายพื้นที่ไร่นา และปัญหาการทำลายป่า อาจทำลายความชุ่มชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้ปูขาดที่อยู่อาศัยจนสูญพันธุ์ได้ จึงอยากให้หน่วยงานราชการเข้าไปควบคุมในส่วนนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายของปูพันธุ์นี้ต่อไป--จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ ขอเชิญร่วมงานแถลงข่าวการค้นพบ"ปูพระพี่นาง"ปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก
- พ.ย. ๒๕๖๗ แถลงข่าวการค้นพบ "ปูเจ้าพ่อหลวง" ปูน้ำจืดตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทยชนิดใหม่ของโลก
- ๒๔ พ.ย. SAWAD เปิดกำไรไตรมาส 3/2567 เติบโตแข็งแกร่ง โค้งสุดท้ายของปี ลุยปล่อยสินเชื่อเน้นคุณภาพ
- ๒๓ พ.ย. สินเชื่อฉับไว ปลอดภัย ไร้กังวล 7 ขั้นตอนกับศรีสวัสดิ์ เงินสดทันใจ
- ๒๔ พ.ย. PRM คว้าคะแนน CGR ระดับ "ดีเลิศ" ต่อเนื่อง 6 ปีซ้อน