กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--กทม.
สภากทม.ไม่เห็นชอบร่างข้อบัญญัตกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิด ริมถนนอุทยานทั้งสองฟาก
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ โฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในการประชุมสภากทม.สมัยสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 2) ประจำปี พ.ศ.2543 เมื่อวานนี้ (11 ต.ค.43) ได้มีการพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างดัดแปลงใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภทริมถนนอุทยานทั้งสองฟาก ในท้องที่แขวงศาลาธรรมสพน์ และแขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร พ.ศ....
นายมุดตาฝ้า หมันงะ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุผลที่ทางฝ่ายบริหารกทม.ได้ร่างข้อบัญญัตินี้ขึ้นมาว่า เนื่องจากถนนอุทยานเป็นเส้นทางพิเศษที่มุ่งตรงและเสริมสร้างความสง่างามแก่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาของชนชาวไทย ดังนั้นเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมนโยบายเพิ่มพื้นที่โล่งสีเขียว การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และภูมิทัศน์ของเมือง เห็นสมควรห้ามก่อสร้าง ดัดแปลง ใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางประเภท ภายในระยะ 100 เมตร ทั้งสองฟากถนนดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราข้อบัญญัตินี้
ด้านนายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวด้วยว่า ถนนอุทยานนั้นแตกต่างจากถนนอื่น ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ในการเวนคืนนั้น เพื่อกิจการของพุทธมณฑล และได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2497 ที่ผ่านมา สำนักผังเมืองได้ประสานกับกรมโยธาธิการในการแก้ไขกฎกระทรวง ซึ่งกทม.จะต้องมีการออกข้อบัญญัติฯก่อน จึงจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงในภายหลัง สำหรับการออกข้อบัญญัติจะไม่ครอบคลุมถึงจังหวัดนครปฐม ระหว่างจากเขตจังหวัดประมาณ 1 ก.ม. ในส่วนของการทำประชาพิจารณ์ สำนักผังเมืองได้สัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ ปรากฎว่า เห็นด้วย 97 % เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และไม่เห็นด้วย 3 % เพราะเห็นว่าจะทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัยไป
สำหรับร่างข้อบัญญัติดังกล่าวที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าร่างข้อบัญญัตินี้จะริดรอนสิทธิและเอกสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนเพราะกำหนดแนวถอยร่นจากถนนถึง 100 เมตร ขณะที่กฏกระทรวงในปัจจุบันกำหนดแนวถอยร่นไว้เพียง 15 เมตรเท่านั้น กรณีนี้จะทำให้ประชาชนเสียสิทธิในการรับค่าชดเชย หรืองบประมาณ สนับสนุนในการก่อสร้างใหม่หลังจากรื้อย้ายออกจากแนวถอยร่น 100 เมตร นอกจากนี้จากการทำประชาพิจารณ์สำรวจความคิดเห็นครั้งที่ผ่านมาของกทม. สมาชิกสภากทม.เห็นว่ามีการจัดทำเฉพาะในพื้นที่แคบ ๆ ข้อมูลที่ได้ยังไม่สมบูรณ์ ประชาชนไม่ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง จึงยังไม่ควรออกข้อบัญญัตินี้--จบ--
-นศ-