กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--จุฬาฯ
ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้รับการติดต่อจากนายปีแอร์ เอ. บูซาร์ด และนายเจอราล์ด วอลเลวิค สองนักธุรกิจชาวเบลเยี่ยม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการจัดตั้งสถาบันเพื่อศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเบลเยี่ยม และโครงการจัดทำหนังสือรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการเสด็จประพาสเบลเยี่ยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในที่สุดจากการปรึกษาหารือร่วมกัน สถาบันเอเชียศึกษายินดีตอบรับข้อเสนอสำหรับโครงการวิจัยทั้งสองโครงการ โดยในเบื้องต้นได้จัดทำหนังสือเกี่ยวกับการเสด็จประพาสกรุงบรัสเซลส์ และเมืองออสเทนด์ ประเทศเบลเยี่ยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ และ ๒๔๕๐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฯพณฯ ปิแอร์ วาร์เซน เอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย และเงินบริจาคจากบริษัทและนักธุรกิจชาวเบลเยี่ยม
หนังสือ “การเสด็จประพาสประเทศเบลเยี่ยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จประพาสประเทศเบลเยี่ยมถึง ๔ ครั้งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนกันยายน และเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ และเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๐ รวมทั้งเป็นการฉลองสัมพันธภาพระหว่างไทย — เบลเยี่ยมซึ่งมีมานานกว่า ๑๐๐ ปี โดยในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชาวเบลเยี่ยมเดินทางมาพำนักอยู่ในสยาม รวมทั้งรับราชการเป็นที่ปรึกษาภายใต้เบื้องพระยุคลบาท ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศอันอบอวลด้วยมิตรไมตรีระหว่างทั้งสองราชวงศ์ และสัมพันธภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองประเทศ เนื้อหาภายในเล่มนำเสนอรูปภาพและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาสเบลเยี่ยมของพระองค์ โดยมีการคัดเลือกเอกสารจากแหล่งอ้างอิงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๑๖” และพระราชหัตถเลขาบางตอนจากพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน”
หนังสือเล่มนี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านได้เห็นตัวอย่าง ความคิดอ่าน มุมมองและทัศนคติของชาวสยามและชาวเบลเยี่ยมที่มีต่อกันในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐ และได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพบเห็นผู้คนและสถานที่ใดบ้างระหว่างการเสด็จประพาสเบลเยี่ยม คณะบรรณาธิการผู้จัดทำหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ นอกจากนายปีแอร์ เอ. บูซาร์ด และนายเจอราล์ด วอลเลวิค นักธุรกิจผู้ใฝ่รู้ชาวเบลเยี่ยมแล้ว ยังมี ศ.ดร.ปิยนาถ บุนนาค และ ดร.ธีรวัต ณ ป้อมเพชร จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และคุณสุภางค์พรรณ ขันชัยนักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ--จบ--
-นห-
- ธ.ค. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: งานประชุม " เครือข่ายนายหน้าแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงฯ "
- ๒๔ ธ.ค. จุฬาฯ เปิดโครงการอบรมครู "พิพิธภารัต 2567" และพิธีลงนาม MOU ส่งเสริมการสอนภาษาฮินดี
- ๒๓ ธ.ค. ขอเชิญฟังปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Enlightened Leadership" โดยนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน
- ๒๔ ธ.ค. ต้อนรับศูนย์อินเดียฯ สู่สถาบันเอเชียศึกษา พร้อมเปิดตัวหนังสือพุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมอินเดียในสมัยพุทธกาล