ก๊าซชีวภาพจากพลังขี้หมู โดยสถาบันวิจัยฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จันทร์ ๐๕ มิถุนายน ๒๐๐๐ ๑๗:๐๒
กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สพช.
การเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรกำลังทำกันอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะการเลี้ยงสุกร ไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้เนื้อหมูไว้บริโภคเท่านั้น แต่มูลสุกรจากฟาร์มบางแห่งได้กลายสาเหตุของกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และของเสีย ซึ่งเป็นแหล่งมลภาวะต่างๆ ดังนั้นหากสามารถแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดจากมูลสุกรหรือขี้หมู รวมถึงได้ประโยชน์ต่างๆ เช่น การผลิตพลังงาน ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี
การนำขี้หมู และสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการเลี้ยงหมู มาหมักโดยการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ที่นอกจากเจ้าของฟาร์มไม่ต้องจ่ายค่าพลังงานในการบำบัดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นการควบคุมกลิ่นเหม็น น้ำเสีย และของเสีย ที่ออกจากฟาร์มเลี้ยงหมู ลดการปล่อยทิ้งก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเรือนกระจกอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง และพลังงานไฟฟ้า รวมถึงยังได้ปุ๋ยอินทรีย์จากขี้หมูที่สามารถนำไปใช้ได้เลยอีกด้วย โดยโครงการระบบก๊าซชีวภาพจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว ได้รับการส่งเสริมโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.)
การทำงานของระบบก๊าซชีวภาพ เป็นการอาศัยเทคโนโลยีที่ทำให้กลุ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ทำหน้าที่หมักย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำซึ่งอยู่ในรูปของของเหลวในสภาพไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) การทำงานของกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่องกัน ทำให้สารอินทรีย์ในน้ำเสียถูกย่อยสลายและลดปริมาณลง สารอินทรีย์ที่ถูกย่อยสลายนี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นก๊าซผสมระหว่างมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ในอัตราส่วนประมาณ 65 : 35 ก๊าซผสมนี้สามารถติดไฟได้ดี จึงใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับให้ความร้อน แสงสว่างและเดินเครื่องยนต์ได้
การส่งเสริมการใช้ระบบก๊าซชีวภาพนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็กที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ และระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่หน่วยบริการก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบ
ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก เป็นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้สร้างระบบก๊าซชีวภาพแบบโดมคงที่ (Fixed Dome) บ่อหมักมีขนาดระหว่าง 12 - 100 ลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.) เพื่อผลิตและนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม การให้แสงสว่างในครัวเรือน รวมถึงการกกลูกหมูด้วยโดยระบบนี้ รองรับหมูได้ไม่เกิน 500 ตัว มีขนาดบ่อมาตรฐาน 5 ขนาด ได้แก่ 12 ลบ.ม. 16 ลบ.ม. 30 ลบ.ม. 50 ลบ.ม. และ 100 ลบ.ม. เป็นเทคโนโลยีแบบโดมคงที่ฝังอยู่ใต้ดิน ประกอบด้วย บ่อเติมมูลสัตว์ (Mixing Chamber) ผสมกับน้ำก่อนเติมลงบ่อหมัก บ่อหมัก (Digester Chamber) ให้เกิดก๊าซมีเทนและก๊าซอื่นๆ ซึ่งก๊าซที่เกิดขึ้นนี้จะผลักดันให้มูลสัตว์และน้ำที่อยู่ด้านล่างของบ่อหมักไหลไปอยู่ในบ่อล้น บ่อล้น (Expansion Chamber) เป็นพื้นที่สำหรับรับมูลสัตว์และน้ำที่ถูกก๊าซผลักดันจากบ่อหมัก โดยการทำงานจะเป็นระบบไดนามิก คือเมื่อก๊าซเกิดขึ้นภายในบ่อหมัก ก๊าซจะมีแรงผลักดันมูลสัตว์และน้ำที่มีอยู่ส่วนล่างของบ่อหมักให้ทะลักขึ้นไปเก็บไว้ที่บ่อล้น เมื่อมีการเปิดก๊าซไปใช้ น้ำในบ่อล้นก็จะไหลย้อนกลับเข้าไปในบ่อหมักเพื่อดันก๊าซให้มีความดันเพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้งานได้ ระบบจะเกิดอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ตลอดเวลา
การดำเนินงานของโครงการก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในระยะแรก ก่อสร้างได้ 280 บ่อ ปริมาณบ่อรวม 6,028 ลบ.ม. ปริมาตรก๊าซ 9.20 ล้านลบ.ม. สามารถใช้ทดแทน LPG ได้ 3.95 ล้านก.ก. หรือทดแทนไม้ฟืน 10.26 ล้านก.ก. และจากการที่ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ โครงการระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้น ซึ่งมีปริมาตรรวมไม่ต่ำกว่า 22,000 ลบ.ม. ทั่วประเทศ สามารถรองรับน้ำเสียจากสุกร 102,000 ตัว และได้พลังงานมาใช้ทดแทนก๊าซ LPG 14.4 ล้านก.ก. หรือทดแทนใช้ฟืน 37.4 ล้าน ก.ก. ทั้งยังลดปริมาณกลิ่นและแมลงวันในพื้นที่รอบๆ ฟาร์มสุกรขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วไปอีกด้วย โดยโครงการนี้เกษตรกรเจ้าของบ่อต้องออกค่าใช้จ่ายเอง 55% และกองทุนฯให้การสนับสนุน 45% ของราคาการก่อสร้างและติดตั้งระบบ
ระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นการออกแบบเพื่อใช้ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งเกษตรกรต้องมีสุกรยืนคอก 5,000 ตัวขึ้นไป และเป็นระบบขนาด 1,000 ลบ.ม. ขึ้นไป ซึ่งมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ทำงานสัมพันธ์กัน สามารถแยกเป็นระบบได้ 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 1 เป็นการย่อยสลายสารอินทรีย์ใน บ่อหมักแบบราง (Channel Digester) บ่อหมักแบบรางจะแยกของเสียส่วนข้น และส่วนใสออกจากกัน ของเสียส่วนข้นจะถูกหมักย่อยในบ่อหมักแบบรางนี้ประมาณ 20-30 วัน จนอยู่ในสภาวะที่เสถียร (Stabilized) และผ่านเข้าสู่ลานกรองของแข็ง (Slow Sand Bed Filter : SSBF) ที่เชื่อมต่อกับบ่อหมักแบบราง ลานกรองนี้จึงทำหน้าที่รับกากของเสียส่วนข้นที่ผ่านการหมักย่อยจากบ่อหมักแบบราง กากของเสียนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งเป็นสิ่งที่พืชต้องการ สำหรับของเสียส่วนใสซึ่งมีปริมาณ 80 - 90 % ของของเสียทั้งหมด จะไหลผ่านไปยัง บ่อหมักแบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket Reactor) เพื่อบำบัดในขั้นตอนที่ 2 ต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การบำบัดและย่อยสลายใน บ่อหมักแบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket Reactor) สารอินทรีย์ส่วนใหญ่ในน้ำเสียที่อยู่ในรูปสารละลายจะถูกย่อยสลายในบ่อหมัก UASB และกลายเป็นก๊าซชีวภาพในที่สุด อัตราส่วนของปริมาตรของบ่อหมักแบบรางต่อปริมาตรของบ่อหมักแบบ UASB คือประมาณ 2-3 ต่อ 1 ขึ้นอยู่กับลักษณะคุณสมบัติของน้ำเสียจากฟาร์มที่เข้าสู่ระบบบำบัด น้ำที่ผ่านการบำบัดจากบ่อหมักแบบ UASB แล้วนี้จะมีค่า COD ประมาณ 800 - 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอน บำบัดขั้นหลัง (Post Treatment) ซึ่งเป็นการบำบัดที่ออกแบบระบบให้มีการทำงานที่เลียนแบบธรรมชาติโดยอาศัยการทำงานของพืช สาหร่าย สัตว์น้ำเล็กๆ และแบคทีเรีย ซึ่งเกิดตามธรรมชาติทำงานสัมพันธ์กันเพื่อบำบัดน้ำที่ผ่านการบำบัดแบบไร้ออกซิเจนมาแล้วในขั้นต้นให้สะอาดมากยิ่งขึ้น จนสามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ทำความสะอาดคอก หรือปล่อยออกสู่ภายนอกได้ในที่สุด การ บำบัดขั้นหลัง จะประกอบด้วยสระพักแบบเปิดที่รับน้ำเสียจากการบำบัดขั้นที่ 2 แล้วปล่อยเข้าสู่บึงซึ่งปลูกพืชน้ำบางชนิดไว้ให้ช่วยในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะทำงานสัมพันธ์กันกับกลุ่มของแบคทีเรีย และในส่วนสุดท้ายของชุดบึงพืชน้ำจะเป็นสระเลี้ยงปลา เพื่อใช้ประกอบในการสังเกตคุณภาพน้ำที่มีต่อสิ่งมีชีวิต น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะมีค่า COD สุดท้ายที่ไม่เกิน 200 - 400 มิลลิกรัม/ลิตร และมีค่า BOD ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษยอมรับได้
เกษตรกรรายเล็ก ที่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อได้ที่ เกษตรตำบล สำนักงานเกษตรอำเภอ และสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน หรือสถาบันพัฒนาและส่งเสริมปัจจัยการผลิต กรมส่งเสริมการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทรศัพท์ (02)5793664 สำหรับเจ้าของฟาร์มสุกรขนาดกลางและใหญ่ ที่สนใจสามารถติดต่อไปที่ หน่วยบริการก๊าซชีวภาพ (Biogas Advisory Unit : BAU) สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตู้ ป.ณ.289 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ 50202 โทรศัพท์ (053)948196-8 โทรสาร (053)948195 หรือ Home Page : http://www.chmai.loxinfo.co.th/~bau/bau.html-- จบ--
-อน-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version