กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ปุ๋ยแห่งชาติ
ปุ๋ยแห่งชาติ ตรึงราคาปุ๋ย ลดผลกระทบเกษตรกรทั้งราคาพืชผลเ กษตรตกต่ำ น้ำท่วม ราคาน้ำมันพุ่งส่งผลให้ราคาขายต่ำกว่าประมาณการ เตรียมแผนรับโดยลงทุน 300 ล้าน ปรับปรุงโรงงานเพื่อลดต้นทุน พร้อมขยายตลาดท่าเรือระยอง และผุดโรงงานปรับคุณภาพยิปซัม
นายกมลชัย ภัทโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ปุ๋ยของตลาดรวมในประเทศ ว่า มีแนวโน้มต้นทุนการผลิตที่จะปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ขณะที่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้บริโภคนั้นมีกำลังซื้อลดลงเนื่องจากราคาพืชผลการเกษตรโดยรวมตกต่ำ และปัญหาน้ำท่วม ดังนั้นแม้ผู้ค้าปุ๋ยหลายรายได้ปรับราคาขายเพิ่มขึ้นแล้วเนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลไกการถ่วงดุลของราคาปุ๋ยในตลาด จะยังคงตรึงราคาจำหน่ายในให้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกษตรกรได้รับในขณะนี้
นายกมลชัย กล่าวว่าจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นทำให้ราคาธาตุอาหารไนโตรเจน เช่น ยูเรีย แอมโมเนีย และแอมโมเนียมซัลเฟตมีราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยตลอดประมาณกว่า 10 % ขณะที่เกษตรใช้ปุ๋ยน้อยลง เพราะขาดกำลังซื้อสืบเนื่องจากผลิตผลทางเกษตรราคาตกต่ำต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ทำให้ราคาขายของปุ๋ยทั่วไปต่ำกว่าปี 2542 ทำให้บริษัทยังไม่สามารถทำกำไรได้
สำหรับปัญหาระยะยาวจะดำเนินการปรับปรุงโรงงานให้สามารถเลือกใช้วัตถุดิบราคาถูกในแต่ละช่วงเวลาเพื่อให้การผลิตสามารถลดต้นทุนปุ๋ยได้ เป็นงานค้างมาจากการก่อสร้างจะทำการแก้ไขให้สำเร็จในปี 2543-2544 นี้ นอกจากนั้นจะทำให้สามารถผลิตปุ๋ยได้มากชนิดขึ้นตามความต้องการของเกษตร แต่ละชนิดของพืช โดยแผนงานนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท ใช้เวลาออกแบบ และติดตั้ง ประมาณ 18 เดือน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯสามารถ ลดต้นทุนในการผลิตได้ดีขึ้น และบริการแก่เกษตรกรทั่วถึง
ส่วนแผนในอนาคตนั้น ทางปุ๋ยแห่งชาติ ได้เตรียมโครงการสร้างโรงงานปรับคุณภาพยิปซัม เพื่อให้สามารถนำผลพลอยได้จากการผลิตปุ๋ยธาตุอาหารไปใช้ในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนส่งออกจำหน่ายยังต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแผนการขยายกิจการบริการท่าเรือของบริษัท ท่าเรือระยอง จำกัด โดยขยายตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าผ่านท่า นอกเหนือจะให้บริการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ปุ๋ยแห่งชาตินอกเหนือจากธุรกิจหลักด้วย นายกมลชัย กล่าวท้ายสุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการขาย โทร. 618-8100 ต่อ 2181, 2194--จบ--
-สส-