กทม.ประชุมชี้แจงนโยบาย “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง”

พฤหัส ๐๕ กรกฎาคม ๒๐๐๑ ๑๔:๑๘
กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (4 ก.ค.44) เวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมอเนกประสงค์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แก่ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนเขต โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสันติ อุทัยพันธุ์ เป็นวิทยากรผู้ชี้แจงแนวนโยบาย ตลอดจนระเบียบการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของกรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวว่า นโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เป็นแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจากระดับล่าง โดยการให้ชุมชนที่มีความพร้อมบริหารจัดการเงินกองทุนชุมชน ชุมชนละ 1 ล้านบาท ซึ่ง กทม.มีชุมชนเมืองอยู่ 1,596 ชุมชน และมีชุมชนบุกรุกที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ กทม.จะต้องสำรวจจำนวนชุมชน กำหนดมาตรฐานชุมชนให้ชัดเจน และพิจารณาระเบียบให้ละเอียดถี่ถ้วน ตลอดจนให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักเสมอว่าเงินงบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการนี้เป็นงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งการบริหารจัดการทุกกระบวนการต้องถูกต้อง พร้อมให้ตรวจสอบได้ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร จะต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน มีตัวแทนจากส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข ธนาคารออมสิน และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมด้วย ในระดับเขตก็จะมีคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับเขต มีผู้อำนวยการเขต เป็นประธาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน และตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการ ซึ่งคณะอนุกรรมการระดับเขต จะต้องเป็นผู้จัดให้มีการคัดเลือกตัวแทนของประชาชนในชุมชน จำนวน 15 คน เพื่อเป็นคณะกรรมการกองทุนต่อไป โดยการดำเนินงานภายหลังการมีคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ฝ่ายราชการจะช่วยประสานงานและติดตามผลเท่านั้น การบริหารจัดการกองทุนจะเป็นเรื่องของภาคประชาชนทั้งสิ้น
นายภูมิธรรม กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ก็คือ คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับเขตจะต้องสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนตระหนักว่า เงินกองทุนจำนวน 1 ล้านบาทที่ได้รับนั้น เป็นเงินของชุมชนที่ต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชนมากที่สุด รวมทั้งตระหนักว่าเงินทุนดังกล่าวเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ผู้กู้จะต้องใช้คืนกองทุนในเวลาที่กำหนด โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศด้วยการสร้างรากฐานให้มีความแข็งแกร่ง การดำเนินโครงการนี้ทั้งประเทศ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 7 — 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ในส่วนของงบประมาณมีความพร้อมแล้ว โดยความร่วมมือของ 2 ธนาคาร คือ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์ (ธกส.) ปัญหาก็คือการพิจารณาชุมชนที่มีความพร้อมเพื่อให้จัดตั้งกองทุนให้ชุมชนบริหารเอง
นายอุทัย กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการดำเนินการโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดชุมชนให้ชัดเจนเพื่อให้ทราบชุมชนเป้าหมาย มีการตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัดและคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการจัดเวทีชาวบ้านเพื่อเลือกสรรคณะกรรมการกองทุนจำนวน 15 คน ประกอบด้วย ชายและหญิงในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน เนื่องจากต้องการให้สตรีมีโอกาสในการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน เมื่อดำเนินการเลือกคณะกรรมการกองทุนแล้ว คณะกรรมการและประชาชนจะร่วมกันจัดทำระเบียบข้อบังคับ หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบริหารกองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองของตนเอง มีแนวทางการให้กู้ยืมโดยให้วงเงินกู้ยืมรายหนึ่งไม่เกิน 2 หมื่นบาท เนื่องจากต้องการให้เงินกองทุน 1 ล้านบาท กระจายไปยังครัวเรือนต่างๆ ในชุมชนอย่างทั่วถึง หากมีผู้ต้องการกู้เงินเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องให้กรรมการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด แต่รายหนึ่งต้องไม่เกิน 5 หมื่นบาท
นายอุทัย กล่าวต่อว่า เมื่อชุมชนดำเนินการจัดตั้งกองทุนเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถขอรับการจัดสรรเงินได้ โดยยื่นแบบคำขอขึ้นทะเบียน (กทบ.2) กับธนาคารออมสิน หรือ ธกส. และเปิดบัญชีกับธนาคารซึ่งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับอำเภอหรือเขตจะประเมินความพร้อมของกองทุนหมู่บ้านฯ เป็นรอบสุดท้าย เมื่อคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอนุมัติเงินจัดสรรตามผลการประเมินความพร้อมแล้ว ก็จะแจ้งให้กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชนเมืองทราบเพื่อติดต่อธนาคาร ทำหลักฐานรับเงินจัดสรรไปบริหารต่อไป ทั้งนี้ชุมชนที่ไม่ผ่านการประเมินความพร้อม ควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาข้อบกพร่อง ทำชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรเงินทุนในปีต่อไป ทั้งนี้คณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับเขตก็พร้อมจะให้การช่วยเหลืออยู่แล้ว
ด้านนายชุมพร พลรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน กทม. เปิดเผยว่า กทม.กำลังดำเนินการตามโครงการนี้ โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนระดับจังหวัด มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ก็เป็นกระบวนการพิจารณาว่ามีชุมชนหรือหมู่บ้านใดบ้างที่เข้าลักษณะเป็นชุมชนเมือง และถึงแม้ว่าชุมชนจะไม่ผ่านการประเมินในปีนี้ ปีหน้าก็ยังมีโอกาสเป็นรอบที่ 2 ที่จะได้รับเงินจัดสรรตามโครงการฯ หากชุมชนใดมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร อาคารศรีจุลทรัพย์ (ชั้น 15) ถ.พระรามที่ 1 เขตปทุมวัน โทรศัพท์หมายเลข 0-2613-7186--จบ--
-นห-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ เม.ย. OR จับมือภาครัฐและผู้ประกอบการชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP ผ่านโครงการ 'ไทยเด็ด' มุ่งเสริมแกร่งเศรษฐกิจชุมชนไทยอย่างยั่งยืน
๐๔ เม.ย. เทลสกอร์ จับมือพันธมิตร ขับเคลื่อนโครงการ 'Help You, Help Me' สู่ปีที่ 6 ผสานพลังคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สนับสนุนโครงการเพื่อสังคม
๐๔ เม.ย. เซ็นทารา แกรนด์ ลาดพร้าว สนับสนุนภารกิจกู้ภัย มอบอาหารและเครื่องดื่มให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์
๐๔ เม.ย. ร้อนๆแบบนี้ มาหมุนให้ฉ่ำ!!สนุกสุดมันส์ไปกับเครื่องเล่น Water Roller ลูกบอลน้ำมหาสนุก
๐๔ เม.ย. ซัมเมอร์นี้ชวนเช็กอินสมุย แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของชาวเวลเนส ที่ BDMS Wellness Clinic สาขา Celes Samui
๐๔ เม.ย. โซเชียลจับตา ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว
๐๔ เม.ย. กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย พร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่
๐๔ เม.ย. GoWabi แพลตฟอร์มจองบริการบิวตี้ครบวงจรอันดับ 1 ในไทยเปิดตัวบริการ GoWabi POS พร้อมประกาศรางวัล GoWabi Top Rated
๐๔ เม.ย. ทีทีบี เชิญชวนเที่ยว พิพิธภัณฑ์ครุฑ สืบสานพลังศรัทธา สรงน้ำ สมเด็จมหาราชทรงครุฑ เสริมพลังบุญรับปีใหม่ไทย
๐๔ เม.ย. บัตรเครดิต ทีทีบี มอบโปรฯ ฟรีอัปเกรด! HUT บุฟเฟต์ อิ่มไม่อั้น จ่ายเพียง 399 บาท