ผู้ว่าฯสมัคร สนับสนุนการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส สายอ่อนนุช—สำโรง ก่อนเป็นอันดับแรก

ศุกร์ ๑๕ กันยายน ๒๐๐๐ ๐๙:๑๑
กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--กทม.
ที่สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต เขตจตุจักร เมื่อวานนี้ (14 ก.ย.43) เวลา 11.00 น. นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดบันไดเลื่อน สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต ซึ่งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ก่อสร้างขึ้นบนสถานีรถไฟฟ้า จำนวน 10 สถานีรวม 14 ตัว และลิฟต์ จำนวน 5 สถานี รวม 9 ตัว โดยมีนายสหัส บัณฑิตกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยสิทธิ์ ภูวภิรมย์ขวัญ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ นายมานะ นพพันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายเกษม จาติกวณิช ประธานกรรมการบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องร่วมพิธี จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะได้เดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส ไปยังสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน เพื่อสำรวจเส้นทางเสริมส่วนต่อขยาย
นายสมัคร เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้เดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอสพบว่าคุณภาพดี ทั้งความเร็ว ความสะอาด และความปลอดภัย ส่วนทั้ง 2 ข้างทางของรถไฟฟ้าก็มีทิวทัศน์ที่สวยงาม นอกจากนี้ในอนาคตจะมีส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอส 3 เส้น คือ เส้นทางแรกจากสะพานตากสิน — มหาชัย ความยาว 28 ก.ม. เส้นทางที่ 2 จากตลาดหมอชิต — คลอง 4 อำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี และเส้นทางที่ 3 อ่อนนุช - สำโรง — บางพลี รวมความยาว ประมาณ 100 ก.ม. (ปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอสมีความยาวรวมประมาณ 23 ก.ม.) ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าบีทีเอสมีรายได้มากขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งประชาชนก็สามารถขยับขยายบ้านเรือนออกไปอาศัยอยู่ชานเมืองได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้กรุงเทพหลวม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ในส่วนแรกที่กทม.จะสนับสนุนก็คือเส้นทางที่ 3 อ่อนนุช - สำโรง - บางพลี เนื่องจาก อีกประมาณ 1 ปี 6 เดือน แพทย์จากประเทศต่าง ๆ จะมาประชุมที่ศูนย์ฯ ไบเทค เขตบางนา และที่ศูนย์ฯ ไบเทค ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้เป็นสถานที่จัดประชุมจำนวนมาก ประกอบกับบริเวณรอบ ๆ ศูนย์ดังกล่าวยังไม่มีโรงแรม ผู้มาประชุมมักจะพักตามโรงแรมที่อยู่ในเมือง ดังนั้นถ้าหากภายใน 1 ปี 6 เดือน มีการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสจากอ่อนนุช - สำโรง มีระยะทางประมาณ 9 ก.ม. ก่อน ก็จะเป็นการดี โดยตนจะขอแก้ไขแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าจากเดิม เป็นเส้นทางจากสถานีอ่อนนุชที่อยู่บนเกาะกลางถนนสุขุมวิท แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกบางนา เข้าถนนบางนา — ตราด ไปใกล้ ๆ ศูนย์ฯไบเทค รวมถึงสร้างสถานีจอดรถ ณ ศูนย์ฯดังกล่าว จากนั้นวกกลับมายังแยกบางนา เลี้ยวเข้าถนนสุขุมวิท สิ้นสุดปลายทางที่สำโรง ทั้งนี้ผู้มาประชุมจะสามารถพักอยู่โรงแรมในเมืองได้ทั้งหมด แล้วเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส อย่างไรก็ดีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสเส้นทางนี้ กลุ่มบริษัทระบบขนส่งมวลชน ได้หารือกับผู้เกี่ยวข้องไว้แล้วว่าจะก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า ความยาว 9 ก.ม. สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้ใช้เวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างส่วนที่เหลือจากสำโรง- บางพลี และเส้นทางที่เหลืออีก 2 เส้นทาง โดยใช้กลุ่มบริษัทระบบขนส่งมวลชนที่ดำเนินการเดิม หากรายใหม่สนใจลงทุนก็จะอยู่ในรูปการร่วมลงทุนกับกลุ่มบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด อนึ่ง สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีบันไดเลื่อน ได้แก่ สถานีหมอชิต, อารีย์ , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, ราชเทวี , ศาลาแดง, สะพานตากสิน, นานา , ทองหล่อ, เอกมัย และพระโขนง ส่วนสถานีรถไฟฟ้าที่มีลิฟท์ คือ หมอชิต, สยาม, อโศก , อ่อนนุช และช่องนนทรี--จบ--
-นศ-

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ