กรุงเทพฯ--8 ส.ค.--เอ็น.ซี.ซี.ฯ
วันอังคารที่ 7 สิงหาคม 2544 ณ ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายนที ขลิบทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เกียรติร่วมเป็นวิทยากรรับเชิญในงานสัมมนา หัวข้อ "เกษตรอินทรีย์และทิศทางสู่ตลาดโลก" ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการจัดงานแสดงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมด้านผัก ผลไม้ และไม้ดอกนานาชาติ หรือ งาน HFF Asia 2001 โดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี แมนเนจเมนท์ แอนด์ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ยาร์เบอร์ เอ็กซิบิชั่น แอนด์ มีเดีย จำกัด
ในการสัมมนาครั้งนี้ นายนที ขลิบทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีความตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก มีการออกกฎระเบียบใช้บังคับผู้ผลิตและผู้ประกอบการกิจการค้าสินค้าเกษตร โดยคณะกรรมการบริหารงานวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร ได้มีการจัดทำมาตรฐานผลิตพืชอินทรีย์ของไทย (Standard for Organic Crop Production in Thailand) และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไปเล่ม 118 ตอนพิเศษ 36ง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2544 ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการเกษตรหันมาสนใจและดำเนินการผลิตสินค้าทางการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนในทุกขั้นตอนการผลิตและแปรรูป ตลอดจนการบรรจุหีบห่อและการขนส่งก่อนถึงผู้บริโภค ซึ่งจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนด และมีการตรวจสอบออกใบรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
"นโยบายของคณะรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายด้านการเกษตรกรรมให้มีการฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมการทำเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทางเลือก และเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แก่เกษตรกร ด้วยการพัฒนาตลาดในประเทศและสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนชนบท ด้วยการส่งเสริม การวิจัยและการเรียนรู้จากภูมิปัญญาไทย และวิทยาการสมัยใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรในตลาดโลกด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตทางการเกษตรในทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรในอนาคต โดยภาครัฐพร้อมจะให้การสนับสนุนและความร่วมมือประสานงานกันอย่างใกล้ชิดกับเอกชนในเรื่องสำคัญ ๆ อาทิ มาตรฐานเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์, การวิจัยเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทยและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดจนถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการติดตามขยายผลด้านการตลาด" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับมูลค่าการซื้อขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 600,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ทุกปี ประเทศที่มีการซื้อขายมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ สหรัฐอเมริกา, เยอรมันนี, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, อิตาลี, อังกฤษ, สวิสเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, เดนมาร์ก และออสเตรีย ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉลี่ยสูงกว่าราคาสินค้าเกษตรทั่วไปประมาณร้อยละ 20-50 ปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์รวมทั่วโลกขณะนี้มีเพียงหนึ่งส่วนจากร้อยส่วนของปริมาณสินค้าทั้งหมด
"ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์และธรรมชาติ แนวทางที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์โลกให้เร็วขึ้นก็คือการกำหนดเป็น "เขตเกษตรอินทรีย์" ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดภาคเหนือที่เป็นต้นน้ำลำธารและเป็นที่สูง การใช้สารเคมีทุกชนิดจะมีผลกระทบไปเกือบทั่วประเทศ ควรกำหนดให้เป็นเขตเกษตรอินทรีย์เช่นเดียวกับทุ่งกุลาร้องไห้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากเป็นได้เช่นนี้แนวโน้มการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ย่อมประสบผลสำเร็จแน่นอน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว
ด้าน ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนมากให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพจากธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรอินทรีย์ซึ่งในระยะหลังมีการตื่นตัวกันมากในเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ ที่เน้นระบบการผลิตพืชที่มุ่งผลิตให้ได้ผลผลิตที่ปราศจากสารพิษหรือการปนเปื้อนของสารพิษ โดยใช้มาตรฐานความปลอดภัยที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดขึ้น ซึ่งแต่ละประเทศจะกำหนดมาตรฐานแตกต่างกันออกไป สินค้าที่มาจากแหล่งผลิตดังกล่าวมักจะเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ในราคาสูงกว่าปกติ และส่งผลให้การค้าพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตจากเกษตรอินทรีย์นั้น มีข้อได้เปรียบ คือ สามารถลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและยังช่วยลดข้อกีดกันทางการค้าในการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรจากต่างประเทศ ที่สำคัญจะทำให้มาตรฐานการดำรงชีพของเกษตรกรและสภาพแวดล้อมของเกษตรกรรวมถึงผู้บริโภคสูงขึ้น เนื่องจากลดความเสี่ยงจากอันตรายในสารตกค้างและสภาพแวดล้อมมีความปลอดภัยมากขึ้น
"เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำเป็นโครงการต่อเนื่องระยะ 5 ปี (2542-2546) ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อผลักดันให้ไทยส่งออกสินค้าอาหารประเภทเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) ในตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง งาน HFF Asia 2001 เป็นงานมหกรรมแสดงเทคโนโลยีทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตรด้านผัก ผลไม้ และไม้ดอก ไม้ประดับที่ยิ่งใหญ่ระดับเอเชียที่มีครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลที่ดีแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรภายในประเทศในการสร้างรายได้จากการส่งออก สินค้าและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ สมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค โดยมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2544 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ตัวแทนประชาสัมพันธ์บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ
กัญญาณัฐ สุวรรณวงศ์, สุภาณี วรรณภา
Tel. 931-2982-3 Fax.931-2124
E-mail : [email protected] จบ--
-อน-
- พ.ย. ๒๕๖๗ ภาพข่าว: ฮั่วเซ่งเฮง จัดสัมมนา “มุมมองเศรษฐกิจ 2558 และทองคำ กับภาษีมรดกไทย”
- พ.ย. ๒๕๖๗ มูลนิธิโรเกชั่น จัดสัมมนา “จัดการภาษีมรดกและส่งต่อสินทรัพย์ให้ลูกหลาน” โดย ดร.สุวรรณ วลัยเสถียร เพื่อระดมทุนการศึกษาช่วยเหลืออนาคตแม่พิมพ์ของชาติ
- พ.ย. ๒๕๖๗ ME by TMB Self Service Banking จัดงาน National Savings Day by ME