กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--อย.
อย.เตรียมพร้อมและติวเข้มผู้ประกอบการทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 6 ตึก อย. เพื่อรองรับการปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารใหม่ ซึ่งการนำกฎหมาย GMP มาบังคับใช้กับสถานที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไป จะได้เกิดความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติตามระบบใหม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีนโยบายปรับปรุงระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดความรับผิดชอบให้ผู้ผลิตอาหารต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขอนามัย มีความปลอดภัยสม่ำเสมอ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบการผลิตของตนให้ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล รวมทั้งในส่วนของฉลากจะมีการเปลี่ยนแปลงให้มีการแสดงเลขสารบบอาหาร (เลข 13 หลักในกรอบเครื่องหมาย อย.) แทนการใช้ตัวอักษรและตัวเลขในเครื่องหมาย อย.เดิม ซึ่งจะทำให้การคุ้มครอบผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังลดการควบคุมในขั้นตอนด้านเอกสารที่ไม่จำเป็นลง และเพิ่มความเข้มในการกำกับดูแลภายหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด หรือ Post-marketing มากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับกับกับกฎหมายการบังคับใช้ GMP ในการผลิตอาหารที่จะมีขึ้น และแนวทางการปรับระบบอาหารใหม่ อย. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จึงได้จัดประชุมสัมมนาให้กับผู้ประกอบการอาหารทั่วประเทศ เรื่อง "การปรับเปลี่ยนระบบควบคุมกระบวนการผลิตและการแสดงฉลากอาหาร" ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 ณ ห้องประชุมชั้น 6 ตึก อย. สำหรับเนื้อหาการประชุมประกอบด้วย นโยบายและเหตุผลความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนระบบอาหาร การอนุญาตตามระบบใหม่ ที่มา หลักการและเหตุผลความจำเป็นในการนำ GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย และ GMP สุขลักษณะทั่วไปและ GMP น้ำบริโภคที่บังคับใช้เป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ จะจัดการประชุมการปรับระบบอาหารใหม่อีกในวันที่ 10 กรกฎาคม และวันที่ 17 กรกฎาคม 2544 ที่จะถึงนี้
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ทราบรายละเอียด เนื้อหา และวิธีการปฏิบัติตามระบบการควบคุมด้านอาหารใหม่และเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ก่อเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งจะได้รับความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น สนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค--จบ--
-นห-
- ม.ค. ๒๕๖๘ เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ สนับสนุนการจัดงานเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ครั้งที่ 21ประจำปี 2562
- ม.ค. ๒๕๖๘ ภาพข่าว: สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยฯ จัดทอดผ้าป่า “มหากุศล สภาผู้สูงอายุ” ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทั่วประเทศ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16
- ม.ค. ๒๕๖๘ คณะผู้ทรงคุณวุฒิฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงาน ‘พ่อหมอสอย’ หมอไทยดีเด่นระดับเขต’58