กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--กทม.
นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.เปิดเผยว่า ในช่วงหน้าร้อน มักจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นประชาชนควรเลือกดื่มน้ำที่สะอาด โดยเฉพาะน้ำแข็งต้องสะอาดเป็นพิเศษ น้ำแข็งที่ใช้ใส่น้ำดื่มนั้น ไม่ควรนำอาหารอื่นมาแช่ปะปนในถังน้ำแข็ง สำหรับน้ำใช้อุปโภคบริโภค ถ้าน้ำมีสิ่งสกปรกปลอมปนอยู่ เมื่อเข้าตาอาจเกิดโรคที่เกี่ยวกับตา เช่น ตาแดง ตาอักเสบได้ หรือถ้าน้ำเข้าจมูกอาจเกิดการอักเสบ เป็นโรคปอดบวม จึงควรเลือกบริโภคน้ำที่มาจากแหล่งที่สะอาด ส่วนอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เดี๋ยวเย็นเดี๋ยวร้อน บางครั้งมีฝนตก หรือผู้ที่เข้าออกห้องปรับอากาศบ่อย ๆ จะทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอก็ควรระวังรักษาสุขภาพด้วย ในส่วนโรคพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นโรคที่เกิดในหน้าร้อนนั้น ปีที่แล้วมีสถิติผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 6 ราย ปัจจุบันสุนัขจรจัดในกทม.มีมาก แต่กทม.ก็ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของสุนัข ขอให้นำสุนัขไปฉีดวัคซีนและทำหมันฟรีที่สำนักอนามัยเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวด้วยว่า โรคที่กำลังระบาดรุนแรงอยู่ในขณะนี้คือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งปีที่แล้วมีผู้ป่วยจำนวน 5,200 ราย และในปีนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค. ถึง เม.ย. มีผู้ป่วยจำนวน 2,500 ราย เท่ากับครึ่งหนึ่งของปีที่แล้ว ทั้งที่ยังไม่ถึงหน้าฝนถ้าถึงช่วงฤดูฝน คาดว่าจะยิ่งมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น กทม.จึงขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันป้องกันและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่นภาชนะใส่น้ำที่หาฝาปิดไม่ได้ให้ใส่ทรายอะเบท โดยขอได้จากศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายมาไข่ และที่สำคัญคือป้องกันตนเองอย่าให้ยุงกัด เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคไข้เลือดออก--จบ--
-นห-