กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (4 ก.ย.43) เวลา 11.00 น. ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายประเสริฐ สมะลาภา ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงถึงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปีนี้ว่า กรุงเทพมหานครได้กำกับดูแลระบบการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างใกล้ชิดโดยตลอด และเมื่อมีฝนตก เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ก็พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่ตนมีความกังวลคือ น้ำที่อยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของกรุงเทพมหานครอาจส่งผลกระทบต่อการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครได้ สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่จังหวัดปราจีนบุรีและเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครนั้น น้ำได้ระบายลงแม่น้ำบางปะกงเป็นส่วนใหญ่แล้ว ประกอบกับ กทม. ก็ได้ประสานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด ปลัดกรุงเทพมหานครกล่าวต่อว่า ขณะนี้น้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นน้ำที่ผ่านจากเขื่อนชัยนาทประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที และผ่านจากเขื่อนป่าสักฯอีกประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกันแล้วมีปริมาณน้ำผ่านกรุงเทพมหานครยังไม่ถึง 1,200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย เพราะภาวะที่จะเกิดน้ำท่วมได้คือประมาณ 2,500 ลบ.ม./วินาที ขึ้นไป แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญก็คือ สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน โดยที่ขณะนี้ ร่องความกดอากาศต่ำยังพาดผ่านทางภาคเหนือตอนล่างของไทย และมีแนวโน้มจะเคลื่อนมาทางใต้ ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กทม. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนมีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ทั้งด้านกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และสถานีสูบน้ำต่างๆ
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปก็คือการเตรียมการป้องกันน้ำทางตะวันออกไม่ให้ล้นเข้ามาในกรุงเทพมหานครหากน้ำมีปริมาณมาก ส่วนการป้องกันน้ำเหนือนั้น กทม.มีเขื่อนถาวรตลอดแนวฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉพาะในจุดวิกฤติอยู่แล้ว และอาจจะเสริมแนวเขื่อนชั่วคราวด้วยกระสอบทรายในส่วนที่ยังไม่ได้ป้องกันด้วย ซึ่งจะพิจารณาต่อไปว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการในทันทีหรือไม่ เพราะกทม.ยังคงมีความปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และหากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที จึงจะเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเปล่าของงบประมาณทั้งค่าวัสดุและค่าแรงงานคน--จบ--
-นศ-