กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กทม.
เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.44) ที่โรงแรมโซลทวินทาวเวอร์ เขตปทุมวัน เวลา 08.30 น. ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (กองสารสนเทศภูมิศาสตร์) สำนักนโยบายและแผนกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเชิง ปฎิบัติการโครงการ “พัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในกรุงเทพมหานคร (BMA Strategic Plan): การจัดทำระบบชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน (Fundamental Geographic Data Set: FGDS)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่งานทางด้าน GIS ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่นำ GIS ไปประยุกต์ใช้และให้ผู้ปฏิบัติงานทางด้านนี้ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ร่วมกัน รวมทั้งได้รับข่าวสารเทคโนโลยีแนวทางการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์
เนื่องจากปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการของหน่วยงานต่าง ๆ หลายหน่วยงาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือข้อมูลที่มีคุณภาพและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน เพราะแต่ละหน่วยงานที่ได้นำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ไปใช้งาน หากมีการจัดเก็บข้อมูลบนพื้นฐานที่แตกต่างกันจะทำให้เกิดปัญหาในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งได้กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์การนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์มาใช้ในกรุงเทพมหานคร (BMA Strategic Plan) คือ การจัดทำชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน (Fundamental Geographic Data Set: FGDS) เพื่อเป็นฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครสามารถนำแผนที่ไปช่วยในการปฏิบัติงานในเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง สำนักนโยบายและแผนฯ จึงได้จัดทำชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐานมาตราส่วนเล็กก่อน ซึ่งสามารถนำระบบหรือข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน (FGDS) ที่ได้พัฒนาให้กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานครที่จะจัดเก็บข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในระบบ GIS หรือไปใช้ในการเก็บข้อมูลที่หน่วยงานดูแลรับผิดชอบอยู่เพื่อจัดทำโปรแกรมประยุกต์ สำหรับช่วยในการวางแผนและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพต่อไป
ในการสัมมนาครั้งนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้าน GIS และผู้บริหารของกรุงเทพมหานครมาบรรยายเรื่องวิสัยทัศน์ การนำ GIS มาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพมหานคร , ความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้าน GIS กรุงเทพมหานคร, ประสบการณ์จากการประยุกต์ใช้ GIS, การนำ GIS ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงาน และพื้นฐานการใช้งานทางด้าน GIS รวมทั้งมีการเชิญชวน GIS User ส่งผลงานของหน่วยงานมาร่วมแสดงในการจัดนิทรรศการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันด้วย ซึ่งผลงานต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจของข้าราชการกรุงเทพมหานครที่จะนำระบบ GIS ไปใช้ในการปฏิบัติงานของตนเองอย่างแท้จริง ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของกรุงเทพมหานคร เพื่อการเป็น E-BMA และ E-Government ในอนาคต--จบ--
-นศ-