กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--กฟผ.
กฟผ. ลงนามร่วมกับบริษัท เทิน-หินบุน เพาเวอร์ รับซื้อไฟฟ้าโครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย นับเป็นโครงการที่ได้นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นต่อประเทศไทยและลาว
วันนี้ (25 ต.ค.) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 201 อาคารสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย ระหว่าง กฟผ. โดยนายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการ กฟผ. และ นายวีระพน วีระวง Director General, Department of Energy Promotion and Development สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะผู้แทนบริษัท เทิน-หินบุน เพาเวอร์ จำกัด พร้อมด้วยสักขีพยานที่มาร่วมงาน
ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการลงนามว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทิน-หินบุนส่วนขยายครั้งนี้ เกิดจากที่ได้มีการเจรจาการรับซื้อไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับบริษัทเทิน-หินบุน เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุนจนได้อัตราค่าไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม คือประมาณ 1.82 บาทต่อหน่วย รวมถึงข้อตกลงในรายละเอียดของเงื่อนไขสำคัญด้านอัตราค่าไฟฟ้า ด้านเทคนิค และด้านกฎหมาย เพื่อนำไปจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพื่อรับซื้อไฟฟ้าได้ในเดือนมีนาคม 2555
“โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทิน-หินบุนส่วนขยาย เป็นหนึ่งในแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ แผนพีดีพี 2007 ทั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาล สปป.ลาว ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังน้ำซึ่งมีต้นทุนต่ำ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นต่อทั้งสองประเทศ” ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว
สำหรับโครงการเทิน-หินบุนส่วนขยายนี้ เป็นโครงการที่ต่อเนื่องจากโครงการเดิม ที่มีกำลังผลิต 210 เมกะวัตต์ โดยได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และสามารถผลิตไฟฟ้าขายให้กับ กฟผ. ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 เป็นต้นมา ซึ่งต่อมา บริษัทฯได้เสนอขอขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยจะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเหนือเขื่อนเดิมเพื่อให้สามารถควบคุมน้ำได้มากขึ้น ทำให้สามารถขยายการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ เขื่อนเดิมเพิ่มขึ้นอีก 220 เมกะวัตต์ และขอปรับปรุงตัวเลขกำลังผลิตตามสัญญาฯ เดิม 210 เมกะวัตต์ เป็น 220 เมกะวัตต์ ตามสมรรถนะจริงของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องปัจจุบัน ทั้งนี้ โครงการใหม่จะมีกำลังผลิตรวม 440 เมกะวัตต์และสามารถผลิตไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทยรวมทั้งหมดประมาณ 2,572 ล้านหน่วยต่อปี โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคม 2555 ซึ่งโครงการนี้จะสามารถสนองความต้องการไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
- พ.ย. ๒๕๖๗ ลงนาม ซื้ออุปกรณ์ GIS 230 เควี สำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา
- พ.ย. ๒๕๖๗ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา