สภากทม. สรุปแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชั้นในอย่างยั่งยืน

ศุกร์ ๐๒ พฤศจิกายน ๒๐๐๗ ๑๗:๔๘
กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กทม.
นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาและกำหนดแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน ประชุมสรุปผลการตรวจริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร โดยมีสมศักดิ์ กลั่นพจน์ ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ ตัวแทนจากสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 6 สภากรุงเทพมหานคร
ตามที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้มีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำแบบถาวร บริเวณคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ เป็นระยะทาง 77 กิโลเมตร ซึ่งได้มีการดำเนินการไปกว่า 64.50 กิโลเมตร โดยเหลือพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมอีก 14.50 กิโลเมตร จากสาเหตุผู้รับเหมาเดิมทิ้งงาน อีกทั้งมีบ้านเรือนบุกรุกทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ในบางพื้นที่ ซึ่งได้มีการไล่รื้อไปแล้วในบางจุดแต่ขาดช่วงในการดำเนินการเนื่องจากรองบประมาณ จนทำให้ประชาชนบางกลุ่มเข้ามาก่อสร้างบ้านพักอาศัยตามเดิม จึงเป็นปัญหาที่ต้องหาข้อสรุปและเจรจากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
โดยขณะนี้สำนักการระบายน้ำ อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้างและสำรวจ ได้แก่ ฝั่งพระนคร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แบ่งเป็น คลองบางเขนเก่า ถึงสถานีสูบน้ำเทเวศร์ (ช่วงที่1) 5 กม. คลองโอ่งอ่างถึงท่าน้ำราชวงศ์ 0.613 กม. วัดปทุมคงคา ถึงศาลเจ้าโรงเกือก 0.410 กม. ฝั่งธนบุรี แบ่งเป็น วัดดุสิตาราม ถึงคลองขนมจีน 0.765 กม. เพรสซิเดนท์คอนโด ถึงวัดสุวรรณคีรี 0.365 กม. คลองน้ำดอกไม้ ถึงคลองต้นไทร 0.130 กม. ดาวคะนอง-แจงร้อน และศาลเจ้า-คลองขุนศรี 5.722 ก.ม. รวมระยะทางทั้งสิ้น 13.005 กม.ในส่วนฝั่งธนบุรีอยู่ระหว่างประกวดราคา แบ่งเป็น วัดปุรณาวาส และปากคลองขุนศรี 0.600 กม. ศิริราช ถึงวัดระฆังฯ 0.400 กม. คลองพริกป่น ถึงหมู่บ้านบุศราคัม 0.075 กม. บริเวณชุมชนวัดภคินีนาถ 0.200 กม. รวม 1.275 กม. อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบและของบประมาณ ในส่วนฝั่งพระนคร ได้แก่ บ่อสูบน้ำถึงท่าน้ำสวัสดี 0.500 กม. ฝั่งธนบุรี จรัญสนิทวงศ์ ถึงคลองน้ำตาล 0.375 กม. รวมระยะทางทั้งหมด 15.155 กม. ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2552-2553 นี้
ทั้งนี้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำโดยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับรู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนพร้อมทั้งให้ความสำคัญเร่งรัดเพื่อป้องกันแก้ไขในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยสำนักการระบายน้ำและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในพื้นที่รับผิดชอบทำงานร่วมกันอย่างหนัก เพื่อคลี่คลายและบรรเทาความเดือดร้อนจากปริมาณน้ำที่เข้าท่วมบ้านเรือนใน 2 ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ อีกทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ชั้นใน ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นแผนแม่บทสำคัญ โดยจะก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร ซึ่งจะสามารถกันปริมาณได้ที่ระดับ 2.40 เมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเล และจะก่อสร้างในบางจุดที่ระดับ 2.70 เมตร สูงกว่าระดับน้ำทะเล เพื่อที่จะเป็นการเตรียมการป้องกันไว้ในอนาคตและจะสามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์แบบและยั่งยืน ตามนโยบายกรุงเทพมหานครในการแก้ไขปัญหาและแผนแม่บท ในการป้องกันน้ำท่วมแบบถาวรและยั่งยืน
ในที่ประชุมได้มีการตั้งข้อสังเกตพร้อมเสนอแนะ ให้สำนักการระบายน้ำเร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันในบางจุด อีกทั้งควรเจรจาให้ผู้รับเหมาเดิมเข้ามาดำเนินการในส่วนวัดปุรณาวาส ริมคลองมหาสวัสดิ์ ให้ใช้งบประมาณที่มีอยู่ ไม่ควรรอผู้รับเหมา ที่จะได้รับการประมูลเพราะเวลาจะยิ่งล่าช้า เนื่องจากมีอุปกรณ์และวัสดุอยู่แล้ว ไม่ต้องรอผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาดำเนินการเพราะคนละส่วนกัน นอกจากนี้ได้เสนอให้สำนักการระบายน้ำนำรายละเอียดข้อมูลบริเวณที่ตกสำรวจและยังไม่ได้รับงบประมาณ รวมถึงดำเนินการไปแล้วเกิดอุปสรรคและปัญหา นอกจากนี้ได้เสนอให้สำนักการระบายน้ำรวบรวมข้อมูลแผนแก้ไขป้องกันน้ำท่วมทั้งสำนักงานเขต 50 เขต นำมารายงานในที่ประชุมในครั้งต่อไป เพื่อที่จะหาข้อสรุปและวางแผนการดำเนินงานในการป้องกันและ แก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบในพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา อีกทั้งจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯลงพื้นที่เพื่อป้องกันและแก้ไขในพื้นที่ชั้นใน ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ