กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กระทรวงยุติธรรม
ในการประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 5 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-5 กันยายนที่ผ่านมา นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก โดยนายชาญชัยระบุว่า ผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้รูปแบบอาชญากรรมและการกระทำผิดเปลี่ยนแปลงไปมาก จำนวนอาชญากรรมเพิ่มสูงขึ้น เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีความสลับซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารมาเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดและก่ออาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ที่บางครั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามก็คาดไม่ถึงและรู้ไม่เท่าทัน
ตัวอย่างเช่น การเจาะระบบข้อมูลหมายเลขบัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็มหรือบัญชีธนาคารเพื่อล้วงความลับของผู้บริโภคไปใช้ในทางที่มิชอบ รวมไปถึงการทำลายระบบข้อมูลต่าง ๆ ให้เกิดความเสียหาย การใช้ความทันสมัยของนวัตกรรมคอมพิวเตอร์มาช่วยในการกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การปลอมแปลงหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน เพื่ออำพรางและหลบหนีการกระทำความผิด การใช้หนังสือเดินทางหรือบัตรประชาชนปลอม เพื่อการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ การใช้อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางในการให้ร้ายใส่ความบุคคลใดคนหนึ่งหรือเผยแพร่ข่าวในทางที่ไม่เหมาะสม สร้างความเสื่อเสียต่อผู้ถูกใส่ความ หรือใช้เป็นช่องทางสร้างข่าวลือในการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ การใช้อินเตอร์เน็ตในการเผยแพร่ภาพลามกอนาจารซึ่งเป็นสาเหตุไปสู่การกระทำความผิดทางเพศ การค้าบริการทางเพศหรือการล่อลวงผ่านการ Chat Online การใช้โทรศัพท์มือถือในการหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินผ่านบัญชีโดยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และมูลค่าความเสียหายในภาพรวมก็ส่งผลแระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน
ปัญหาอาชญากรรมและการกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในสังคมเมืองแต่ได้ขยายไปถึงประชาชนในระดับรากแก้วตามท้องถิ่นต่างๆ ที่ยังรู้ไม่เท่าทันต่ออาชญากรรมเหล่านี้ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของไทยภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์เช่นนี้จึงเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาระบบบริหารงานยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ มีการปรับปรุงกระบวนการ วิธีการ ข้อมูล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้เท่าทันและสอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก โดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามจะต้องมีความรู้เท่าทันทางเทคนิคและเข้าใจวิธีการใหม่ ๆ ของคนร้าย และต้องให้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยมีทิศทางการพัฒนาที่ดีขึ้นมาเป็นลำดับ และที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ก่อให้เกิดกระแสประชาธิปไตย ที่ส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงงานด้านกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญฯปี 2550 ที่ผ่านการลงประชามติมาไม่นาน อาจกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา กระบวนการยุติธรรมและระบบกฎหมายของประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าและรูปแบบไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการสืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีเพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนได้รับความคุ้มครองมากขึ้น มีการตรวจสอบถ่วงดุลบทบาทการทำหน้าที่ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งบทบาทผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ข้าราชการ และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อใช้ในการระงับและป้องกันข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยการนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้กับการระงับข้อพิพาททั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ การเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น เกิดมิติใหม่ของการบริหารงานยุติธรรมทั้งทางแพ่งและทางอาญาโดยความพยายามนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในงานด้านกระบวนการยุติธรรม นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือในการค้นหาความจริงทางคดี สร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม หรือแนวโน้มของการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการควบคุมผู้ต้องขัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบสหวิชาชีพในการดำเนินคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้มีมาตรฐานในระดับสากลหรือการเกิดขึ้นของกองทุนยุติธรรมเพื่อให้เป็นระบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอีกหลายร้อยฉบับที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน
นายชาญชัย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีการบรรจุเนื้อหาและใจความหลักของแนวนโยบายพื้นฐานด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไว้ในมาตรา 81 ซึ่งถือเป็นภารกิจและบทบาทที่สำคัญต่อทิศทางการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมที่รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ประกอบด้วย 1) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรมและทั่วถึง ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย 2) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้พ้นจากการล่วงละเมิด ทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐและโดยบุคคลอื่น และต้องอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน 3) จัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย 4) จัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม 5) สนับสนุนการดำเนินการขององค์กรภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่มีแนวนโยบายที่เป็นเรื่องใหม่ซึ่งเป็นภารกิจของรัฐบาลและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้น เช่น การจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ และการจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการเป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม
สำหรับทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกนั้น ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมเห็นความสำคัญและพยายามอย่างยิ่งในการเป็นเจ้าภาพของการบริหารงานยุติธรรมโดยผลักดันให้มีพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2549 ขึ้น เพื่อการบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาสังคมที่มีหน้าที่รับผิดชอบและภารกิจทางด้านงานยุติธรรมซึ่งอยู่กระจัดกระจายในสังคมในการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวที่จะกำหนดทิศทางนโยบายและพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในด้านต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113,109