กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สคส.
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวในการประชุมปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาการจัดการความรู้ ( KM cognitive coaching) สำหรับทีมทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 — 30 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ โดยมีผู้แทนระดับสูง จากเขตพื้นที่นำร่อง 17 แห่งในโครงการการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ กว่า 60 คนเข้าร่วมงาน
ในงานดังกล่าว คุณหญิงกษมา ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา” ต่อผู้บริหารการศึกษาที่เข้าร่วมงาน โดยระบุว่าจากการที่ได้ลงพื้นที่เยี่ยมหลายเขตพื้นที่การศึกษาหลายแห่งทราบว่าโครงการ Knowledge Management:KM หรือ “การจัดการความรู้” ซึ่ง ดร.สุวัฒน์ เงินฉ่ำ และ ดร.เลขา ปิยะอัฉริยะ ร่วมสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ (สคส.) ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้นั้น ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในหลายพื้นที่ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) โดยรวม ในขณะเดียวกัน ในปีที่ผ่านมาสพฐ .เองก็พยายามผลักดันให้เกิดการจัดการความรู้ในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณธรรมนำความรู้ ที่ได้มีการพัฒนาศึกษานิเทศ และขอให้ศึกษานิเทศก์จัดประชุม KM ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีพุทธและสัมมนานวัตกรรมเมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็มีความพยายามจะทำเรื่องเหล่านี้ “ KM เป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า สำหรับการเรียนรู้ของพวกเราในฐานะองค์กร ในฐานะบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สพฐ.ซึ่งมีหน่วยงานที่หลากหลายมีพลังที่มหาศาล KM เป็นสิ่งที่จะทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า โดยที่เท้าติดดิน เพราะว่าถ้าเราไปคิดทฤษฏีอะไรมาจากข้างนอกแล้วไม่เหลียวดูว่าคนในพื้นที่พยายามทำอะไรอยู่ เราก็จะได้ของที่มันฟังดูดี แต่มันทำไม่ไดจริงแต่ถ้าเราสามารถนำของที่ท่านทั้งหลายพยายามทำในพื้นที่มาผสมสานกับองค์ความรู้เดิม ดิฉันเชื่อว่าเราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง”
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาข้าราชการสพฐ.แต่ละคนอาจจะสับสนวุ่นวานแล้วก็พยายามประคองศรีษะเหนือน้ำฉะนั้นโอกาศที่จะพัฒนาอะไรเชิงนวัตกรรมก็อาจจะมีไม่มากนักฉะนั้นจึงมีรูปแบบที่สำเร็จรูปส่งไปจากส่วนกลางเยอะ แต่ในระยะหลังตนเริ่มเห็นแล้วว่าเมื่อเขตพื้นที่ลงตัวสถานศึกษาก็เริ่มรู้แล้วว่ามันมีความนิ่งในบรรยากาศที่เขาทำงานอยู่ก็ได้เริ่มเห็นนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นในพื้นที่ และยอมรับว่าในอดีตตนเองก็ไม่ได้ตระหนักว่าเขตพื้นที่และโรงเรียนทำอะไรที่มันเป็นนวัตกรรมอะไรต่างๆ มากมายจนกระทั่งปลายปีที่ผ่านมา ได้ขอให้สพฐ. จัดงานนวัตกรรม จึงมีโอกาสไปนั่งฟังโรงเรียน เอส บี เอ็ม ที่เรารู้สึกว่าบางอย่าง เขายังทำไม่ได้เต็มที่ แต่เมื่อเขามานำเสนอผลงาน จึงรู้สึกเลยว่าหลายเรื่องที่เคยคิดว่าน่าจะทำ แต่คงทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วในพื้นที่ทำได้ เช่น โรงเรียนที่สมุทรปราการเขาสามารถทำให้เด็กยากจนในโรงเรียนออมเงินได้มหาศาล และหยุดบริโภคน้ำหวานได้ ซึ่งหากดิฉันสั่งการไปจากส่วนกลางไม่มีทางที่จะทำได้แบบนี้ แต่โรงเรียนสามารถทำได้จากบริบทที่เขาอยู่หรือตัวอย่างนครปฐมโมเดลที่สามารถทำให้ มหาวิทยาลัยยอมรับผลการพัฒนาคุณธรรมสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นจากพื้นที่ แล้วบางครั้งพื้นที่เท่านั้นที่จะทำได้ ตนคิดว่าขณะนี้ส่วนกลางเริ่มเกิดความตระหนัก และรู้สึกถ่อมตัวขึ้นหลายเรื่องในการทำงานเชิงสนับสนุนให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่แต่การที่พื้นที่มีของดีๆ เกิดขึ้นแล้ว แต่รับรู้กันในแวดวงจำกัดทำให้ประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับน้อยไป ฉะนั้นเรื่องของ KM จึงมีคุณค่าที่เราจะนำมาใช้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วหยิบเอาของดีๆ นั้นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“เมื่อสองสามวันนี้เอง เรามีผู้ปรารถนาดี มายื่นข้อเสนอพร้อมนำแพ็กเกตอันใหม่มาให้สพฐ. แต่เราไม่ได้รับและก็ไม่ได้ปฏิเสธเพียงแต่ดิฉันก็ไปเชิญผอ.ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องทำนองเดียวกับที่ผู้ปรารถนาดีผู้นี้มานำเสนอมา 20 คนนั่งล้อมโต๊ะ แล้วก็ให้แต่ละท่านเล่าว่าทำอย่างไร เท่านั้นเองท่านผู้ปรารถนาดีคนนี้แทบจะม้วนเสื่อกลับบ้านไปได้เลย เพราะสิ่งที่เราทำอยู่แล้วมันยิ่งใหญ่มหาศาลมากกว่าที่เขาคิดนำเสนอเสียด้วยซ้ำเรื่องนี้ไม่มีใครผิดเพียงแต่ที่ผ่านมาเราเองก็ไม่เคยไปบอกใครว่าโรงเรียนทำดี แล้วโรงเรียนที่นั่งอยู่รอบๆ โต๊ะก็ไม่รู้กันว่าเขาทำดีอย่างไรแต่เมื่อมานั่งล้อมรอบโต๊ะ โรงเรียนก็ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันแล้วที่สำคัญที่สุดคนนั้นที่ตั้งใจจะเอารูปแบบสำเร็จมาให้เราเขาก็เปลี่ยนความคิดเลยว่าเขาคงไม่ต้องทำแบบนั้นแล้วเปลี่ยนความคิดว่าเขาน่าจะไปทำงานเชิงการต่อยอดมากกว่า ฉะนั้นก็มีหลายเรื่องที่เราได้เรียนรู้จากกระบวนการ KM แล้วก็เมื่อเราเปลี่ยนนโยบายว่าต่อไปนี้เราจะไม่มีโครงการสำเร็จรูปไปจากส่วนกลางแต่เราจะสนับสนุนให้พื้นที่คิดและทำ เรื่องของ KM จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ
เลขาธิการคณะกรรมการสพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ความสนใจของสำนักงานเขตพื้นที่ต่อระบบKM ตื่นตัวมากน้อยไม่เท่ากัน อาจจะเป็นเพราะว่างานปรกติที่สพฐ.ส่งให้ท่านมากมายจนท่านหาเวลาไม่ได้แต่บัดนี้ปีใหม่นี้เราเปลี่ยนนโยบายไปมากแต่ยังกำหนดเป้าหมายเพื่อให้มีทิศทางเดียวกันแต่ไม่กำหนดวิธีการฉะนั้นในปีนี้ตนคิดว่าผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่น่าจะเรียนรู้จากระบบ KM ให้มากขึ้นและเรียนรู้จากความสำเร็จ มากบ้างน้อยบางหรือบางแห่งเขาอาจจะทำได้ไม่สมบูรณ์นักแต่ก็ทำให้เราไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เหมือนเวลาที่สอนเด็กเราก็ไม่คิดว่าเด็กเริ่มจากศูนย์ เด็กแต่ละคนก็นำประสบการณ์นำสิ่งที่มีคุณค่ามาสู่ห้องเรียนต่างกันเมื่อเราสามารถต่อยอดจากสิ่งที่เราเริ่มต้น เราก็สามารถไปได้ไกลแต่เมื่อใดก็ตามเราพยายามจะคิดว่าเรามาด้วยความว่างเปล่าแล้วเอาของของเราใส่เข้าไป บางทีมันก็ต่อกันไม่คิดฉะนั้นนโยบายจากสพฐ. เป็นนโยบายที่เปิดให้ท่านคิดแล้วในปีนี้ส่วนท่านจะคิดหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ท่านและก็ขอย้ำและสนับสนุนอีกครั้งว่า KM เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ท่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และต่อยอดความสำเร็จ ขึ้นไปได้
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สนใจ “กระบวนการการจัดการความรู้” สามารถร่วมเรียนรู้และหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือการพัฒนานี้ได้ในงาน “มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 4” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน — 1 ธันวาคม 2550 และสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วม “Workshop” ได้ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.kmi.or.th และ โทร. 02-2980664-8 ต่อ 187 ,332 และ 119