กรมบัญชีกลางรายงานผลการปฏิบัติงานในวันคล้ายวันสถาปนาครบ 117 ปี

จันทร์ ๐๘ ตุลาคม ๒๐๐๗ ๐๙:๓๒
กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางรายงานผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ณ ห้องประชุมกรมบัญชีกลาง วันที่ 5 ตุลาคม 2550 เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 117 ปี
นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง รายงานผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลาง ซึ่งครบรอบ 117 ปี ในวันที่ 7 ตุลาคม 2550 นี้ โดยกล่าวว่า 1 ปีงบประมาณที่ผ่านมา เห็นว่ากรมบัญชีกลางมีภาระงานที่มากมายหลายด้าน และแต่ละด้านมีลักษณะงาน
ที่แตกต่างกันไป เช่น กฎหมายการเงินการคลังต่าง ๆ กฎหมายเกี่ยวกับการพัสดุ กฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ อีกทั้งระเบียบปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การบัญชี การเบิกจ่าย การอบรมบุคลากร และบุคลากรของกรมได้ปฏิบัติงาน กันอย่างเต็มความสามารถ เกิดผลงานมากมาย
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มว่า มีหลายภารกิจที่เป็นผลงานที่สำคัญทั้งที่เป็นภารกิจหลักและงานตามนโยบายรัฐบาล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานของรัฐและประชาชน ได้แก่
1. การพัฒนากฎหมายการคลัง เพื่อเอื้อต่อการปฏิบัติงานของส่วนราชการ ในการ ผ่อนคลายและกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ส่วนราชการสามารถใช้ดุลพินิจในการบริหารและใช้จ่าย
เงินงบประมาณเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่ายให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน รวมทั้ง พิจารณาสิทธิประโยชน์ของบุคลากรภาครัฐให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติงาน การพัฒนากฎหมายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ที่สำคัญ เช่น ปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 พระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ. 2547 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าป่วยการและประโยชน์ตอบแทนอื่นของสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว
2. การพัฒนามาตรฐานระบบพัสดุภาครัฐ มีการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง 3 ประเภท ได้แก่ งานก่อสร้างอาคาร งานก่อสร้างทาง สะพานและท่อเหลี่ยม และงานก่อสร้างชลประทาน โดยการหาค่างานต้นทุนหรือราคาทุนของ
งานก่อสร้าง ด้วยวิธีการถอดแบบก่อสร้าง (Direct Cost) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost) หรือ Factor F ได้แก่ ค่าอำนวยการ ดอกเบี้ย กำไร และค่าภาษี รวมทั้งค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องมี มาคำนวณรวมกันเป็นราคากลางงานก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการใช้อ้างอิงและพิจารณาราคาค่าก่อสร้างของผู้เสนอราคา เป็นข้อมูลในการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานก่อสร้าง และใช้ราคากลางเป็นราคาเริ่มต้นในการประมูลงานก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ผู้เสนอราคาเสนอราคาใกล้เคียงกับราคากลาง ลดปัญหาการเสนอราคาที่สูงเกินความเป็นจริง มีผลช่วยให้ลดการรั่วไหลและประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการจัดหาพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม — 28 กันยายน 2550)
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 มีการประมูลรวมทั้งสิ้น 15,864 ครั้ง สามารถประหยัดงบประมาณได้จำนวน 13,982 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.22 ซึ่งประเภทการมูลที่ประหยัดได้มากที่สุดคือการจัดหาครุภัณฑ์ประหยัดร้อยละ 8.54 รองลงมาคืองานก่อสร้าง ประหยัดได้ร้อยละ 8.46 มีความถี่ 11,858 ครั้ง และวงเงินในการจัดซื้อสูงสุด 119,344 ล้านบาท
3. ด้านความรับผิดทางแพ่ง ในการตรวจสอบสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาพบว่า การพิจารณาและให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือผู้เสียหายมักจะประสบปัญหา เนื่องจากมีรายละเอียดและข้อมูลพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องไม่ครบถ้วน เพียงพอที่จะพิจารณาได้ จึงได้กำหนดแนวทางการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีกรอบแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างสะดวกคล่องตัว มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว แบ่งเป็น 5 ประเภทตามความเสียหาย คือ
3.1 ทุจริตเงินหรือทรัพย์สิน
3.2 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบ
3.3 คนร้ายกระทำโจรกรรมหรือทรัพย์สินสูญหาย
3.4 อาคารสถานที่ถูกเพลิงไหม้
3.5 ยานพาหนะเกิดอุบัติเหตุ
4. ด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ มีการบริหารจัดการและพัฒนาระบบเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในของสถานพยาบาลของทางราชการภายใต้เพดานงบประมาณ โดยใช้เกณฑ์การจัดสรรตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) แทนวิธีการจ่ายเงินตามที่สถานพยาบาลเรียกเก็บ มีการตรวจสอบข้อมูลผู้มีสิทธิ ข้อมูลการรักษา และข้อมูลค่าใช้จ่ายในการรักษาทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบและประมวลผล พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบ GFMIS เพื่อจ่ายตรงให้กับสถานพยาบาล โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2550
นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนางานด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบภายใน เพื่อพัฒนาระบบตรวจสอบภายในภาคราชการ และส่งเสริมให้ผู้ตรวจสอบภายในมีศักยภาพและมาตรฐาน การปฏิบัติงานเทียบเท่ามาตรฐานสากล การบริหารงานด้านเงินนอกงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ เช่น การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน และการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลลูกจ้างของส่วนราชการ
5. การบริหารเงินคงคลัง ได้ทำหน้าที่รายงานการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารเงินคงคลังของรัฐบาล โดยเสนอมาตรการเพื่อผลักดันให้มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจได้ 1,470,839 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 93.91 ของวงเงินงบประมาณ (1,566,200 ล้านบาท) สูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 93.00 และเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้ จำนวน 262,706 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.45 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง หรือ
(326,559 ล้านบาท) สูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 73.00
นอกจากนี้ยังได้เสนอมาตรการและแนวทางการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 สรุปได้ดังนี้
(1) กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
ในภาพรวมร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1,600,000 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า
ร้อยละ 74 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนของแต่ละส่วนราชการ
(2) ให้นำอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นตัวชี้วัดในคำรับรองการปฏิบัติราชการของส่วนราชการ
(3) ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและก่อหนี้ผูกพันให้ได้
ร้อยละ 70 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ภายในสิ้นเดือนมกราคม 2551
(4) ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจปรับแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินจริง รวมทั้งปรับข้อมูลในระบบ GFMIS ด้วย
(5) ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ รายงานสถานะการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน ทุกสิ้นเดือนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป ส่งให้กรมบัญชีกลางผ่านทาง Web Site : www.cgd.go.th ให้กรมหรือหน่วยงานเทียบเท่าที่มีงบลงทุนจัดทำแผนการดำเนินงาน (Operation Plan) และแผนการเบิกจ่ายเงิน (Disbursement Plan) ของงบประมาณปี พ.ศ. 2551 และงบผูกพันจากงบประมาณปี พ.ศ. 2550 เพื่อกำหนดเป็นเป้าหมาย (Milestone) ของโครงการลงทุนทุกโครงการ โดยให้จัดทำเป็นรายครึ่งไตรมาส (เริ่มจาก 15 พฤศจิกายน 2550)
เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาเพื่อเร่งรัดติดตามผลงานและให้รายงานคณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นราย
ครึ่งไตรมาส
6. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์ (GFMIS) ในการกำกับดูแลด้านการจ่ายเงิน การรับและนำส่งเงิน และการสนับสนุนการทำงานและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ผ่านระบบ GFMIS คือ
ด้านการจ่ายเงิน มีการเบิกจ่ายผ่านระบบจำนวน 5,033,258 รายการ เป็นจำนวนเงิน
2.7 ล้านล้านบาท (2,733,357,470,439.79 บาท) จัดทำข้อมูลหลักผู้ขายลงทะเบียนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จำนวน 216,612 ราย แยกเป็นผู้ขาย (ส่วนราชการ) จำนวน 12,741 ราย และผู้ขาย (เจ้าหนี้) จำนวน203,741 ราย
ด้านการรับและนำส่ง เงินรายได้จากส่วนราชการ เป็นจำนวนเงิน 1,720,898,159,023 บาท
ด้านการสนับสนุนการทำงานและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานระบบ GFMIS
ได้ออกบัตร Smart Card จำนวนทั้งสิ้น 2,104 บัตร แจกรหัสการใช้งานและรหัสผ่านในหน่วยงานสำหรับ
Excel Loader ให้หน่วยงานทั่วประเทศ จำนวน 7,247 หน่วยเบิกจ่าย และพัฒนาระบบ Excel Loader ให้สามารถใช้ได้บนเครือข่าย Intranet ของกระทรวงของหน่วยงานนั้น ๆ หรือเครือข่ายของกรมนั้น ๆ เพื่อไม่ต้องเดินทาง
มายังกรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด จำนวน 2,514 หน่วยเบิกจ่าย พร้อมทั้งได้พัฒนาต่อไปถึงการใช้งานได้บน Internet โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Token Key ซึ่งจะจัดสรรให้ หน่วยเบิกจ่ายใช้งานได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2550 นี้
7. การพัฒนาระบบงาน GFMIS ในด้านต่าง ๆ
- การพัฒนาการนำส่งข้อมูลเข้าระบบ GFMIS ผ่านทาง Intranet ของกระทรวงหรือกรม
ที่เชื่อม Server GFMIS เพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 เป็นต้นมา
สร้างความเข้มแข็งให้ทีมงานของกรมขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่ง เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา (Internal Helpdesk) และช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามระบบ GFMIS ในลักษณะ On the job training
- พัฒนาระบบงานต่าง ๆ เช่น ระบบรับและนำเงินส่งคลังให้สามารถบันทึกข้อมูล พร้อมกับ
เงินที่นำส่งธนาคาร ระบบการเบิกเงินงบประมาณแทนกัน เป็นต้น
พร้อมทั้งการปรับปรุงผังบัญชีมาตรฐานและรูปแบบรายงานการเงินในระบบ GFMIS
ให้มีความเหมาะสม ชัดเจน และสะดวกกับหน่วยงานผู้ใช้ในการนำไปปฏิบัติงานมากขึ้น ปรับปรุงรูปแบบ
การนำเสนอข้อมูลในรายงานการเงินจากระบบ GFMIS
8. การบริหารการจ่ายเงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จบำนาญ กรมบัญชีกลางมีนโยบายในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้แก่ผู้ที่เกษียณอายุราชการและพ้นจากราชการต่อเนื่องจากเงินเดือน เพื่อให้ผู้ที่เกษียณอายุราชการทุกคนได้รับเงินบำเหน็จบำนาญโดยเร็ว โดยเร่งรัดให้ทุกส่วนราชการยื่นเรื่องขอรับเงินบำเหน็จบำนาญของผู้ที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 ให้กรมบัญชีกลางและสำนักงานคลังเขต 1-7 ภายในวันที่ 15 กันยายน 2550 เพื่อให้สามารถจ่ายเงินได้ภายในเดือนตุลาคม 2550 โดยมีผู้ที่เกษียณอายุราชการและพ้นจากราชการ
จำนวนทั้งสิ้น 19,261 ราย ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2550 ได้ทำการอนุมัติสั่งจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญแล้ว จำนวน 18,330 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.17 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,038.92 ล้านบาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิในวันที่
24 ตุลาคม 2550 สำหรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ มีผู้มีสิทธิยื่นขอรับเงินบำเหน็จดำรงชีพ จำนวนทั้งสิ้น 11,750 ราย เป็นจำนวนเงิน 2,304.06 ล้านบาท กรมบัญชีกลางจะโอนเงินเข้าบัญชีในวันที่ 10 ตุลาคม 2550
9. การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ในด้านการเงิน การคลัง การบัญชี การตรวจสอบภายใน การพัสดุภาครัฐ โดยยึดสมรรถนะ(Competency based development) จัดทำแผนการจัดการความรู้
(KM Action Plan) ส่งผลให้การปฏิบัติงานราชการในภาพรวมของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ การจัดส่งวิทยากร
บรรยายให้ความรู้ด้านการเงินการคลัง แก่หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และจัดทำสื่อ
การเรียนการสอนเพื่อบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management)
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวต่อท้ายว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2551
ได้จัดทำเพื่อเสนอเป็นแผนปฏิบัติงานตามภารกิจเป็น 2 ด้าน คือ
1. ด้านการกำกับดูแลทางด้านการเงินและการบัญชีภาครัฐ (Regulator) เช่น
1.1 การตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกรมจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายการคลังมาเป็นวิทยากรบรรยายถึงผลกระทบของรัฐธรรมนูญกับกฎหมายการคลังในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลางเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรของกรมบัญชีกลาง ประกอบด้วย
ดร.พนัส สิมะเสถียร ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม และ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ มาเป็นวิทยากรบรรยาย
1.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ....
หลักการสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา มี 4 ประการ คือ (1) เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ (2) ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (3) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า
มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (4) เพื่อลดปัญหาการทุจริต หรือหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างพระราชกฤษฎีกานี้ คือ (1) ส่วนราชการจะได้พัสดุไว้ใช้ในราชการที่มีคุณภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น มีความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงิน และมีราคาที่เหมาะสม (2) เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้หลายช่องทาง ทำให้มีระบบการตรวจสอบ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อีกด้วย (3) ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะมีความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อันจะส่งผลให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างได้
1.3 พัฒนาระบบการเบิกค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม ให้สามารถใช้บริการ
ในสถานพยาบาลของเอกชนได้ เช่น ผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็งที่ใช้บริการรังสีรักษา ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง
1.4 การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยจะเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด
ของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งจะทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจ
ที่ตรงกัน เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบ เกิดผลในทางปฏิบัติในกระบวนการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานของรัฐด้วยวิธีทางการปกครอง
2. ด้านการบริการ (Service Provider) เช่น
2.1 การพัฒนาระบบ GFMIS เพื่อรองรับการตั้งงบประมาณในระดับจังหวัด ตามพระราช-กฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณของจังหวัด และรองรับกับการกำหนดให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นนำเงินมาฝากคลังและเบิกจ่ายเงินจากระบบ GFMIS
2.2 พัฒนาระบบการสั่งจ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน
ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Pension)
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวปิดท้าย ว่า สำหรับงานบริการด้านอื่น ๆ จะได้มีการพัฒนา ให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้